“กัญจนา ศิลปอาชา” อดีต หน.พรรคชาติไทยพัฒนา โพสต์เฟซ จนท.รักษาลูกช้างป่าพลัดหลง พร้อมประสาน ฮ.เคลื่อนย้ายรักษาที่บึงฉวาก สุพรรณบุรี
วันที่ 1 ธ.ค.65 น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำคลิปวีดีโอ ขณะเจ้าหน้าที่กำลังทำการช่วยเหลือรักษาลูกช้างป่าที่กำลังล้มป่วย รวม 3 คลิป มาโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก “NuNa Silpa-archa” พร้อมกับเขียนข้อความระบุว่า “ป้าจะช่วยหนูเต็มที่ กำลังขอ รมว.ทส.ประสานเรื่อง ฮ.หนูต้องสู้นะลูกนะ..
สำหรับข้อความถัดไปเป็นไปในลักษณะรายงานผู้บังคับบัญชา ระบุว่า - เพื่อโปรดทราบ - ภายใต้การกำกับการของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) วันที่ 30 พ.ย. 2565 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) และสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า ขอรายงานการปฏิบัติงาน ช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง เพศเมีย จำนวน 1 ตัว น้ำหนักโดยประมาณ 130-150 กิโลกรัม พิกัดพื้นที่ 47P 0524240E 1654254N ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี รายละเอียดมีดังนี้
1.วันที่ 29 พ.ย. 65 เข้าทำการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง ตัวดังกล่าว
1.1 ได้รับแจ้งจากพระธุดงในพื้นที่ ว่าพบลูกช้างป่าพลัดหลง ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 65 โดยได้สร้างคอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เพื่อรอฝูงช้างป่าให้เข้ามารับลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว แต่ยังไม่พบฝูงช้างป่ามารับแต่อย่างใด
1.2 เข้าทำการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว โดยการให้นมผงชนิดเอนฟาแลคผสมยาขับลมไกรวิเตอร์ ทุก 1 ชม. และให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ 1.3. ทีมสัตวแพทย์ประเมินอาการแล้วพบว่า ลูกช้างป่าตัวดังกล่าว อ่อนแรงมาก ขาดน้ำรุนแรง ถ่ายเหลว มีเยื่อเมือกซีด พบแผลหลุมในช่องปาก พบแผลแมลงวันวางไข่บริเวณปลายริมฝีปากล่างและใบหู พบรอยขีดข่วนบริเวณลำตัว
2. วันที่ 30 พ.ย. 65
2.1 ป้อนนมชนิด Enfalac ผสมยาขับลม
2.2 ป้อนเกลือแร่
2.3 ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
2.4 ให้วิตามินบำรุงแบบฉีด
2.5 ให้ยากำจัดปรสิตภายในและภายนอก
2.6 ให้ความอบอุ่นแก่ลูกสัตว์โดยการก่อไฟ ห่มผ้าห่ม ในช่วงเวลากลางคืนและช่วงเช้า
2.7 ทำการวัดอุณหภูมิร่างกาย อยู่ที่ 98 องศาฟาเรนไฮร์ ทั้งนี้สภาพพื้นที่ที่ทำการเลี้ยงดูแลลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว ไม่เหมาะสม ซึ่งสรุปโดยทีมสัตวแพทย์และคณะเจ้าหน้าที่ ดังนี้ 1.เส้นทางการเข้าออกลำบาก เดินทางเส้นทางชัน (เดินขึ้นเขา) ป่ารกทึบ ฝนตกเป็นระยะๆ ต้องเดินข้ามห้วย แนวการเดินค่อนข้างแคบ ลื่น ไม่สามารถใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ (เดินเข้าป่าลึกระยะทาง 4 กิโลเมตร) 2.ถ้าเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับตัวสัตว์และทีมเจ้าหน้าที่ จะอันตรายมาก เนื่องจากไม่สะดวกทั้งการเดินทาง และติดต่อสื่อสาร 3.หัวหน้าและทีมสัตวแพทย์ มีความเห็นว่า ควรใช้เฮลิคอปเตอร์ ขนาดที่เหมาะสมกับตัวลูกช้างป่า ลูกช้างป่ามีขนาดความยาว 117 ซม. ความสูง 89 ซม. และ ความกว้าง (ซ้าย-ขวา) 49 ซม. โดยวางแผนตอนทำการเคลื่อนย้ายโดยให้ลูกช้างป่าอยู่บริเวณในตัวเฮลิคอปเตอร์ (ห้องโดยสาร) 4.ทั้งนี้สภาพพื้นที่เป็นหุบเขา ร่องห้วย การประเมินการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการลงจอด จะต้องประเมินโดยนักบินผู้เชี่ยวชาญ ว่าสามารถทำการลงจอดได้หรือไม่ อย่างไร 5.ทีมสัตวแพทย์ ลงความเห็นว่า ควรนำลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว มาดูแลรักษาเบื้องต้น ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เนื่องจากมีทีมสัตวแพทย์จาก สบอ.3 (บ้านโป่ง ) สัตวแพทย์จากส่วนกลางกรมอุทยานฯ และ สัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก ยารักษา และอุปกรณ์ที่มีความพร้อม สะดวกในการเดินทาง และระยะทางการเคลื่อนย้ายใกล้กว่าพื้นที่อื่นๆซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพสัตว์
นายไชยวุฒิ อารีย์ชน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ สพ.ญ.ลักขณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
ส่วน นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ทาง กรมอุทยานโดย สบอ.3 ได้ส่ง นานมานะ เพิ่มพูล ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 ลงพื้นที่ร่วมดำเนินการกับ นายไชยวุฒิ อารีย์ชน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ สพ.ญ.ลักขณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ในการให้การช่วยเหลือลูกช้าวที่ได้รับบาดเจ็บ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ซึ่งล่าสุดมีการประสานงานไปยังกองพลทหารราบที่ 9 เพื่อขอรับการสนับสนุน เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เพืีอทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างออกมาจากป่า เพื่อลำเลียงส่งต่อไปยัง ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เพื่อทำการรักษาอาการบาดเจ็บต่อไป ตอนนี้ทางกองพลทหารรายที่ 9 ได้ตอบรับสนับสนุนอากาศยานแล้ว ทางทหารและอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์กำลังเข้าพื้นที่เพื่อทำลายจอดฮ.และเตรียมวางแผนในการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายช้างในเร็วนี้