กรมกิจการผู้สูงอายุรายงานว่า สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2568 หรืออีกเพียง 3 ปีข้างหน้า โดยนิยามของสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่า 10% หรือประชากรอายุ 65 ปี อัตราเท่ากับหรือมากกว่า 7%
 
ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่า 20% แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น อายุขัยเฉลี่ยของไทยยังยืนยาวขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี และคาดว่าในปี 2568 คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวถึง 85 ปี ดังนั้น การนำแนวคิดนวัตกรรม มาพัฒนาและต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์การก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นที่
 
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องของการดูแลสุขภาพแบบศาสตร์องค์รวม เน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้ง ศึกษาดูงานตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ
 
ล่าสุด คณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร HIDA รุ่นที่ 1 และ 2 นำโดยดร.สมชาย อัศวเศรณี ประธานโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA และประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมมอบเงินสนับสนุนมูลนิธิแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 300,000 บาท และมอบถุงมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 2,000 กล่อง มูลค่า 280,000 บาท


 
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวบรรยายในหัวข้อ Healthcare Transformation and the Future of Medical Innovations ว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 
สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ รักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรคและส่งเสริสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ให้การฝึกอบรมและค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในทุกๆ ระบบ แบบครบวงจร ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักจรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล ในการเป็น “โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณธรรม” ภายใต้กรอบแนวคิดอัตลักษณ์เชิงคุณธรรมคือ “ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เอื้ออาทร” เป็นสถาบันต้นแบบที่เป็นตัวอย่างอันดีต่อสังคมและประเทศชาติ
 
ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากชาดไทย ครบ 108 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 75 ปี ถือเป็นสถาบันทางต้นแบบททางการแพทย์ที่มีคุณธรรมและสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยมีแนวทางในการพัฒนานวัตกรรม ใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนในงานวิจัยนำไปสู่นวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์กับสังคมได้ และอาจใช้รูปแบบ Research University Network เข้ามาช่วย มีการหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศและหาพันธมิตรภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม หาความสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานจากงบประมาณของรัฐบาล หรือ หาแหล่งทุนจากสถาบันการเงินที่มีความสนใจ นำองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นแนวคิดและผลักดันให้เกิดเป็นวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอด พัฒนาให้เป็นเกิดรูปธรรมกับหมู่มาก เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีการแพทย์ททันสมัย
 
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยขณะนี้ ได้ร่วมกับ ปตท. และ บริษัท อินโนบิก(​เอเชีย) ผลิตนวัตกรรมมณีแดง เพื่อต้านเซลล์ชรา มีคุณสมบัติในการย้อนวัยที่ดีเอ็นเอ เป็นกลไกสำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาสุขภาพในสังคมสูงวัยได้และมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทย โดยผลการทดลองขณะนี้ประสบความสำเร็จหลังจากที่ได้นำโมเลกุลมณีแดงไปทดลองกับหนูทดลองซึ่งได้เป็นที่น่าพอใจ ขั้นตอนต่อไปทีมวิจัยจะนำมณีแดงไปทดสอบในสัตว์ใหญ่ เช่น ลิงแสม เพื่อดูผลการรักษาในระยะยาว ก่อนที่จะเริ่มการทดสอบในมนุษย์
 
พร้อมกันนี้ รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและทุกคนต้องเตรียมรับมือ คือ ภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบกับ สัตว์ พืช และ มนุษย์ เนื่องจาก ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดโลกอุบัติใหม่ และ ภาวะอาหารขาดแคลน
 
หลังจากรับฟังการบรรยายวิชาการเสร็จแล้ว คณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร HIDA รุ่นที่ 1 และ 2 ได้เยี่ยมชม ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าศูนย์โปรตอน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถึงพัฒนาการด้านรังสีรักษา และความเป็นมาของศูนย์ฉายรังสีโปรตอนแห่งแรกของไทย ว่า เป้าหมายของการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็ง คือ จะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการรักษามะเร็งที่ยังรักษายากในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายมากขึ้น พร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา


 
ในปี 2557 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับอนุมัติงบประมาณติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าโรงพยาบาลจุฬาฯ มีแผนจัดสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน จึงทรงสนับสนุนเต็มที่ พร้อมพระราชทานนามให้ว่า “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ซึ่งใช้งบสร้างห้องปฏิบัติการในการรักษาถึง 1,200 ล้านบาท เปิดให้บริการเมื่อปี 2564 ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน
 
ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องโปรตอน เป็นการรักษา แบบจำเพาะเจาะจงต่อก้อนมะเร็ง สามารถกำหนดทิศทางของลำอนุภาคไปยัง ก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ทำให้อวัยวะปกติที่อยู่ใกล้กับก้อนมะเร็งจะได้รับ ปริมาณรังสีน้อยมากหรือไม่ได้รับเลย แพทย์จึงสามารถเพิ่มปริมาณรังสีสูงสุด ที่สามารถทําลายเซลล์มะเร็งได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยลดผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการเจ็บปาก เจ็บคอ ปากแห้ง คอแห้ง ภาวะลำไส้อักเสบภาวะไขกระดูกเสื่อม ความจำเสื่อม
 
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องโปรตอน เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเด็ก ที่จะช่วยลดความผิดปกติด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการ และลดโอกาส การเกิดมะเร็งชนิดที่สอง นอกจากนั้น แล้วการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนสามารถเพิ่มปริมาณรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้ อย่างแม่นยำ โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องโปรตอน เช่น โรคมะเร็งในเด็ก เนื้องอกและมะเร็งที่ฐานกะโหลก เนื้องอกและมะเร็งในสมองและไขสันหลัง โรคมะเร็งตา โรคมะเร็งหูคอจมูก โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายรังสีซ้ำ
 
ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มุ่งเน้นการให้บริการรักษาควบคู่ไปกับการทำวิจัยทั้งด้านการแพทย์และด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาวิธีการรักษา โรคมะเร็งให้ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุดตามมาตรฐานระดับสากล


 
จากนั้นคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร HIDA รุ่นที่ 1 และ 2 ได้เยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ เป้าหมายสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้บริการทั้งในด้านการป้องกันและดูแลรักษาอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น การหกล้ม ปัญหาเรื่องการนอนหลับ ปัญหาด้านการมองเห็นและได้ยิน การเสื่อมถอยของระบบอวัยวะภายใน รวมไปถึงการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ด้วยการบริการจากสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญและพร้อมดูแลผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ มีการเปิดให้บริการอยู่ 2 คลินิก ได้แก่  คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี และ คลินิกวัยทอง

คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี เน้นสร้างเสริมการดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้น ให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด อีกทั้งยังสร้างตำราทางการแพทย์เกี่ยวกับผู้สูงวัย ให้เป็นตำราอ้างอิงของประเทศไทย การจัดประชุมวิชาการด้านผู้สูงวัย รวมไปถึงการร่วมมือกับชุมชน เพื่อสร้างระบบอาสาสมัครที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และบุคคลวัยอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความเข้าใจและการดูแลที่เป็นมิตรให้เกิดขึ้นในสังคม ทางศูนย์ฯ ยังได้เปิดบริการคลินิกวัยทอง เพื่อช่วยดูแลและส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยทองอย่างครอบคลุม และครบวงจร.