นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภายในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2566 ทางสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกแห่ง จะดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบหลังบ้านให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยใช้วิธี “สแกนลายนิ้วมือ” แทนการ “ปั้มลายนิ้วมือ” ในปัจจุบัน เพื่อรองรับประเภทสิ่งของที่ประชาชนนำมาจำนำมากขึ้น เช่น พระเครื่อง จากเดิมที่เคยรับจำนำเฉพาะทองคำที่เป็นกรอบพระ โดยไม่ได้ตีมูลค่าของพระเครื่อง
นอกจากนี้ ผู้บริหาร กทม. ยังได้กำชับให้สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ทุกแห่ง มีมาตรการตรวจสอบ ทรัพย์สิน หรือ สิ่งของที่มีผู้นำมาจำนำในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยจะต้องตรวจสิ่งของอย่างละเอียดเพื่อป้องกันสิ่งของที่ถูกขโมยมา ซึ่งจะต้องประสานกับตำรวจอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องสังเกตสิ่งของต่าง ๆ เช่น ทองรูปพรรณที่นำมาจำนำ มีลักษณะขาด หรือมีความผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก อาจมีการลักลอบเล่นการพนันผิดกฎหมาย จนนำไปสู่ปัญหาอาญชากรรม
ด้าน นายชนาธิป ล.วีระพรรค. ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือ และบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทางสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ทั้ง 21 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้นเพียง 10 สตางค์ ในวงเงินไม่ถึง 5,000 บาท ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งจากสถิติพบว่า ในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น กว่า 380,000 ราย เฉลี่ยเดือนละ 32,000 ราย ซึ่ง ปัจจุบันสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร มีทรัพย์สินจำนำรวมกว่า 2,100 ล้านบาท โดยสินทรัพย์จำนำส่วนใหญ่ เป็นทองคำรูปพรรณ โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 85 รลงมาคือ อัญมณี ร้อยละ 10 ส่วนทรัพย์เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา เครื่องมือช่าง มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น
ทั้งนี้ กทม. ยังได้ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่งภายในปีหน้า เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการปะชาชน และล่าสุดได้มีพิธีเปิด โรงรับจำนำ กทม.สาขาคลองเตย เมื่อวันที 22 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา