ในบรรดาหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการแก้ปัญหาขบวนการลักลอบนำเข้าหมู หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “หมูเถื่อน” นั้น เห็นทีจะหนีไม่พ้น 2 กรมสำคัญของประเทศอย่าง กรมศุลกากร สังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องคอยตรวจตราสิ่งอันตรายและสิ่งผิดกฎหมายไม่ให้ผ่านเข้ามายังราชอาณาจักรไทย และ กรมปศุสัตว์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องสอดส่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ รักษาความปลอดภัยให้เกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค

ขณะที่ข่าวสารเกี่ยวกับหมูเถื่อนมีออกมาเป็นระยะ ทั้งคำเตือนถึงอันตรายของมันที่มีต่อเกษตรกรและประชาชนไทย ทั้งการเรียกร้องของเกษตรกรให้รัฐกวาดล้างขบวนการดังกล่าวให้สิ้นซาก ทำให้ภาครัฐทั้งสองหน่วยงานขยับตัวดำเนินการในเรื่องนี้มากขึ้น และแน่นอนว่า เมื่อมีผลงานการจับกุม แต่ละกรมก็จะรายงานผลงานผ่านข่าวสารไปยังสื่อมวลชนต่างๆ ทำให้ประชาชนได้เห็นปริมาณหมูเถื่อนที่เล็ดลอดเข้ามายังประเทศไทย เห็นวิธีการและเส้นทางขนส่ง  ซึ่งเมื่อรวบรวมข่าวผลงานการจับกุม “หมูเถื่อน” ของกรมศุลากรและกรมปศุสัตว์ ในระยะเวลา 11 เดือนแรกของปี 2565 ก็พบว่า กรมปศุสัตว์สามารถเป็นแกนนำในการดำเนินการจับกุมหมูเถื่อนได้ถึง 622 ตัน หรือราว 622,000 กิโลกรัม ขณะที่กรมศุลกากร สามารถตรวจจับได้เพียง 55 ตัน หรือราว 55,000 กิโลกรัม   ซึ่งถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะเห็นว่า ในจำนวนของกลาง 808,000 กิโลกรัม เป็นผลงานของกรมปศุสัตว์ไปถึง 77% ในขณะที่กรมศุลฯ ทำได้เพียง 7% เท่านั้นแตกต่างกันอย่างลิบลับ (ไม่นับรวมที่สองหน่วยงานปฏิบัติการจับกุมร่วมกัน) 

ทำไมกรมศุลกากรจึงมีผลงานที่ด้อยกว่ามาก ทั้งๆที่เป็นด่านแรกที่เผชิญหน้ากับขบวนการลักลอบนำเข้าหมู ก่อนกรมปศุสัตว์เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงต้นปีมีเบาะแสชัดเจนว่า การขนส่งหมูเถื่อนแทบทั้งหมด จะขนส่งเข้ามาทางทะเล บรรจุเป็นหมูแช่แข็งในตู้คอนเทนเนอร์ และเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากรโดยตรง ในช่วงนั้นมีกระแสข่าวแรงมากว่า “มีค่าเคลียร์ตู้” ที่ทำเอาเครื่องเอ็กซเรย์มูลค่าหลายล้านของกรมศุลกากรไม่เคยสแกนเจอหมูเถื่อนเลย ส่งผลให้หมูแช่แข็งเหล่านั้นกระจายไปยังทั่วทุกภาคของประเทศไทยภายในเวลาอันรวดเร็ว  

ปากก็บอกไม่มีหมูเถื่อนเข้ามาทางเรือ แต่พอแถลงผลงานกลับพบว่า กรมศุลฯเจอหมูเถื่อนแช่แข็งบนถนนหลวงนอกเขตท่าเรือ ก็เลยยิ่งสร้างความฉงนสงสัยว่า หมูเหล่านั้นถูกขนขึ้นฝั่งมาจากทางใด ... (ถ้าไม่ใช่ทางท่าเรือ?)  ที่สำคัญ กรมศุลฯ ไม่เคยแสดงแนวทางชัดเจนในการจับกุม ไม่มีแม้แต่จะโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการเพื่อยกระดับให้การจัดการหมูเถื่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัดภาพกลับไปที่ “กรมปศุสัตว์” ซึ่งมีความพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาหมูเถื่อน จะว่าไปก็อาจเพราะเป็นหน้าที่หลักที่ต้องป้องกันโรคระบาดสัตว์ หรือปกป้องเกษตรกรให้ปลอดภัย สามารถประกอบอาชีพเกษตรปศุสัตว์อย่างราบรื่น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศ เหล่านี้ก็อาจจะใช่และเป็นเหตุผลที่กรมจะปฏิบัติหน้าที่จริงจังในเรื่องนี้ ประชาชนจึงได้เห็นการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ด้านกันกันสัตว์ ขยับสับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อความคล่องตัวและจริงจังในการแก้ปัญหาหมูเถื่อน รวมถึง การประกาศนโยบาย Zero ASF ที่อธิบดีกรมปศุสัตว์คนใหม่ หมายมั่นปั้นมือเพื่อช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอย่างเต็มที่ โดยแนวทางหนึ่งในการป้องกัน ASF ก็คือต้องกำจัด “ความเสี่ยงสำคัญ” ซึ่งก็คือ ขบวนการหมูเถื่อน ที่จะเป็นพาหะนำโรคเข้าประเทศไทยให้หมดไปโดยเร็วนั่นเอง ล่าสุด กรมปศุสัตว์ ทำผลงานทิ้งห่างการทำงานของกรมศุลกากรอีกครั้ง เมื่อสามารถจับกุมหมูเถื่อนล็อตใหญ่ ณ ห้องเย็นแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร อายัดของกลางได้มากถึงกว่า 430,000 กิโลกรัม 

อันที่จริง “กรมศุลกากร” ก็มีหน้าที่หลักในการตรวจตราป้องกัน “หมูเถื่อน” ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฏหมายและเป็นอันตรายต่อประชาชนไม่ให้เล็ดลอดเข้ามายังประเทศไทยเช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติหน้าที่แล้วถือว่าความตั้งใจและการลงมือปฏิบัติยังเป็นรองกรมปศุสัตว์อยู่หลายขุม  ที่เอ่ยมานี้ ก็เพียงหวังหยอดน้ำมันให้กรมศุลฯ เร่งทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วน รัดกุม และครอบคลุม อยากเห็นสองกรมสองแรงแข็งขันในระดับใกล้เคียงกัน เมื่อร่วมกันปฏิบัติการจับกุม และผนึกกำลังกับหน่วยงานที่อื่นๆเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ จะเป็นพลังมหาศาล และเชื่อว่าจะสามารถกำจัดขบวนการหมูเถื่อนให้หมดไปจากประเทศไทยได้ในอีกไม่นาน

โดย : สามารถ สิริรัมย์