ส.ป.ก. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การสร้างและพัฒนาเครือข่ายวนเกษตรให้สอดคล้องกับภูมิสังคมในเขตปฏิรูปที่ดิน”

วันที่ 29 พ.ย.65 นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การสร้างและพัฒนาเครือข่ายวนเกษตรให้สอดคล้องกับภูมิสังคมในเขตปฏิรูปที่ดิน" และพิธีมอบใบประกาศเกียรติบัตรเป็น “ครูต้นแบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน” โดยมีนายวิทยา คำภูแสน ผอ.กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม พร้อมด้วยภาคีความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ครูต้นแบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน เจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด ทั้ง 66 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 175 ราย ณ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

 

นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และเกิดความเข้าใจ ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องและสมดุลกับบริบทภูมิสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งเป็นพื้นที่ของการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงาน หรือการประกอบการวนเกษตรในระดับครัวเรือน ชุมชน เครือข่าย ตลอดห่วงโซ่คุณค่าและมูลค่า ซึ่ง ส.ป.ก. มีบทบาทหน้าที่ในการจัดหาและจัดสรรที่ดินทำกินควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ รวมถึงการบริหารทรัพยากร อนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และรักษาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรทางศาสนา เพื่อมาช่วยเหลือเกษตรกร และผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการมาตรฐานต่าง ๆ ตามหลักสากล อีกทั้งยังมุ่งเน้นส่งเสริมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ปลอดภัย ไร้สารเคมี สร้างช่องทางการตลาดที่หลากหลายขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรให้ อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุข ในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป 

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นการเกษตรสร้างมูลค่า และยุทธศาสตร์ด้านการเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ ส.ป.ก. กำหนดเป็นเงื่อนไขให้ราษฎรปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น อย่างน้อย ร้อยละ 20 ของเนื้อที่ที่ได้รับ และกรณีพื้นที่ติดกับป่าไม้ให้ปลูกเป็นแนวกันชน เพื่อให้ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการ ส.ป.ก. จึงได้จัดตั้ง ครูต้นแบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง มีความมั่นคงด้านอาหาร และรายได้ ตลอดจนระบบนิเวศเกษตรในแปลงของเกษตรกรและสภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืน และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศอีกด้วย