กรมชลประทาน เดินหน้าส่งน้ำตามแผนฯฤดูแล้งอย่างเพียงพอ พร้อมย้ำเฝ้าระวังฝนตกหนักภาคใต้อย่างใกล้ชิด

วันที่ 28 พ.ย.65 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน

ดร.ทวีศักดิ์ ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบัน (28 พ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,841  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,883 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,858 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,162  ล้าน ลบ.ม.  ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

ด้านการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66  ได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศไว้รวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 3,073  ล้าน ลบ.ม. หรือ 12% ของแผนฯ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการจัดสรรน้ำไว้ตามแผน 9,100 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 530  ล้าน ลบ.ม. หรือ 6%  ของแผนฯ ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (แผนประเทศ 11.06 ล้านไร่) ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 1.42  ล้านไร่ หรือ 13% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา(แผนเพาะปลูกพืช 6.74 ล้านไร่) มีการเพาะปลูกแล้วประมาณ 0.96  ล้านไร่ หรือ 14% ของแผนฯ ภาพรวมการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งยังเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้

ทั้งนี้ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 แล้ว  จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่ระดับตลิ่ง เร่งเข้าสำรวจฟื้นฟูอาคารชลประทาน ระบบส่งน้ำต่างๆ ให้สามารถเก็บกักน้ำและส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามปกติโดยเร็วที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งที่ยังมีน้ำท่วมขัง ให้เร่งดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบกับการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในฤดูนาปีหน้าต่อไป  ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/66 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

โฆษกกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้  ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลซียและภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงวัน 7 ธันวาคม 2565 นี้   จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดน้ำล้นตลิ่ง ให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่าจากสถานีวัดน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที  ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน 2565 ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.)กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด