วันที่ 28 พ.ย.65 ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมสัญจรสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองว่า ปัจจุบันสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองยังขาดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับงานวางแผนผังและพัฒนาเมือง เช่น นักเศรษฐศาสตร์เมือง นักโบราณคดีที่มีความรู้เรื่องโบราณคดีโดยตรง รวมถึงนักผังเมือง จากการประชุมได้ข้อสรุปว่าควรมีนักผังเมืองประจำโซน 6 โซนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้คำปรึกษาแต่ละโซนได้อย่างถูกต้อง และการจัดบริหารภาพรวมด้านบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีการแก้ พรบ.ผังเมืองใหม่ แต่เนื่องจากยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ครบสมบูรณ์ตามขั้นตอน จึงต้องเริ่มขบวนการใหม่ ขณะเดียวกัน กทม.จึงถือโอกาสปรับแก้ระบบผังเมืองให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้นซึ่งที่ผ่านมาสำนักการวางผังฯ เป็นผู้กำหนดขีดจำกัดในการก่อสร้างแต่ละพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดราคาที่ดิน ในอนาคตสำนักการวางผังฯ ต้องมีบทบาทนำเสนอความน่าจะเป็นของเมืองในอนาคตด้วย เพื่อตอบแทนเมืองและสอดคล้องกับนโยบายกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ เช่น การสร้างตึกอาคารต่างๆ ควรมีพื้นที่สาธารณะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้ประโยชน์ด้วย เช่น พื้นที่หาบเร่แผงลอย การทำบ่อกักเก็บน้ำบริเวณพื้นที่โดยรอบก่อสร้าง รวมถึงในการสร้างคอนโดมิเนียมหรือที่อยู่อาศัย ควรแบ่งโซนที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยด้วย ซึ่งผู้สร้างจะได้รับสิทธิพิเศษจากกทม.ในการจัดเก็บภาษีและการก่อสร้างมากขึ้น เนื่องจากตอบแทนผู้ประกอบการที่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมรวมถึงการเพิ่มสิทธิ์ดังกล่าวเป็นแนวทางในการจูงใจผู้ประกอบการมากขึ้น

 

ทั้งนี้ กทม.กำลังนำแผนดังกล่าวมาปรับใช้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งขบวนการทั้งหมดต้องเร่งดำเนินการ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2566 อีกเรื่องที่ต้องปรับปรุงคือ แผนผังถนน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับผังเมืองยังไม่มีการปรับแผนผังถนนควบคู่กันอย่างชัดเจน ทำให้การก่อสร้างในภาพรวมมีการติดขัด และบางส่วนก่อสร้างไม่ได้เพราะติดพื้นที่เวนคืน ดังนั้นสำนักต่างๆ ของ กทม.ต้องปรับแผนถนนให้สอดคล้องกับผังเมือง เช่น ต้องทำแผนผังถนนให้มีความชัดเจนและครอบคลุมให้มากที่สุดตามแนวผังเมือง เพื่อกำหนดกรอบในการก่อสร้างตามพื้นที่ต่างๆ ให้แม่นยำมากขึ้นตามแนวถนนตัดผ่าน พร้อมบรรจุข้อมูลใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในปัจจุบันอีกด้วย