การทำการผลิตด้านการเกษตรด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการขยายผลผลิตให้ได้จำนวนมาก ไม่ใช่ทางออกที่จะนำพาให้ภาคการเกษตรของประเทศมั่นคง เพราะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดการค้าของผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าสามารถส่งออกสินค้าในราคาที่ต่ำลง ขณะที่ประเทศมีผู้ผลิตที่มีทรัพยากรจำกัดถูกกดดันให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่สถานการณ์ที่แข่งขันไม่ได้ในตลาด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนา โดยมีโครงการสำคัญคือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยการดำเนินการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร การเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันการรวมกลุ่มการผลิต ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก อาทิ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด

ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี ได้ดำเนินงานระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรราย ย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเอง การกำหนดพื้นที่เป้าหมายของ เกษตรแปลงใหญ่ ดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไป โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอนจนถึงการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ โดยเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมเป็นแปลงใหญ่ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มอย่างมีความชัดเจน เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพสู่การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด 

นายสุวิทย์ แก้วมณี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี เปิดเผยว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี  ส่งเสริมการพัฒนาชาวนาผ่านระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเอง การกำหนด พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไป โดยจะมีกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มชัดเจน เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ให้พัฒนาเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และ Young Smart Farmer และมีช่องทางการสนับสนุนอาชีพการทำนาต่อไป