วันที่ 28 พ.ย.2565 นายเขมพัฒน์ เหรัญญะ ปลัดอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตลอดจนส่วนงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ เข้าตรวจสอบพื้นที่หนองน้ำผาหินแตก หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า "หนองเป็ด" ตั้งอยู่บริเวณบ้านทุ่งยั้ง หมู่ 2 ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย  ภายหลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าเกิดหลุมยุบดูดเอาน้ำจากบ่อและปลาที่ทางชุมชนปล่อยไว้หายไปหมด สร้างความกังวลและหวาดผวาแก่ชาวบ้านในพื้นที่เป้นอย่างมาก

โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า หนองน้ำดังกล่าวมีเนื้อที่กว้างประมาณ 3 ไร่ ซึ่งที่บริเวณเกือบกลางบ่อพบว่ามีการทรุดตัวของดินจนเป็นหลุมยุบลงไป มีขนาดความกว้างรัศมีประมาณ 5 เมตร ภายในมีน้ำขังอยู่และมีปลาอยู่ภายในค่อนข้างมาก ส่วนบริเวณโดยรอบอ่างน้ำได้แห้งขอด ซึ่งชาวบ้านระบุว่าหลุมดังกล่าวมีขนาดกว้างจากเดิมจากที่พบครั้งแรกซึ่งมีความกว้างเพียงประมาณ 2-3 เมตรเท่านั้นและไม่มีน้ำ แต่ปัจจุบันมีน้ำขังอยู่เต็ม ทางอำเภอและทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีการกันพื้นที่ไว้ไม่่อนุญาตให้ชาวบ้านหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องลงไปในหนองน้ำเพราะเกรงจะได้รับอันตราย

ด้านนายขจรศักดิ์ ธิปาละ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทุ่งยั้ง กล่าวว่า หนองน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำสาธาณะประจำหมู่บ้าน เดิมเป็นหนองเลี้ยงเป็ดแต่ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นหนองน้ำสำหรับใช้เลี้ยงปลาซึ่งมีพันธุ์ปลามาปล่อยมากกว่า 3 หมื่นตัว และเป็นแหล่งน้ำใช้สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรทั้งเขตพื้นที่บ้านทุ่งยั้งและหมู่บ้านข้างเคียง โดยเฉพาะนาข้าวกว่า 1,000 ไร่  น้ำที่แห้งอาจส่งผลต่อการทำการเกา๖รสำหรับฤดูกาลเพาะปลุกนาปรังปีนี้ 

ซึ่งกรณีการทรุดตัวของดินไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในพื้นที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่น้อยกว่า 4 ครั้งกระจายไปตามพื้นที่ต่างของหมู่บ้าน แต่จะเกิดในพื้นที่นาของชาวบ้าน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดในพื้นที่หนองน้ำสาธารณะ แต่โชคดีที่ไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนหรือบ้านเรือนของประชาชน

ด้าน นางสุธาสินีย์ โซเดรส์ อายุ 53 ปี ชาวบ้านทุ่งยั้ง กล่าวว่า จากปรากกฎการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกใจและหวาดผวาแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก แม้พื้นที่จะเกิดหลุมยุบลักษณะนี้หลายครั้ง แต่เป็นหลุมขนาดเล็ก และไม่ส่งผลทำให้น้ำหายไปมากขนาดนี้  ชาวบ้านจึงกลัวว่าจะส่งกระทบต่อชุมชนและความเป็นอยู่ชาวบ้าน โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็กของชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากนัก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบหรืออันตรายต่อชาวบ้านหรือไม่ ตลอดจนวิธีป้องกันและแก้ปัญหาช่วยเหลือชาวบ้านด่วนด้วย

ขณะที่นายเขมพัฒน์ เหรัญญะ ปลัดอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการทรุดตัวของดินว่ามีสาเหตุมาจากอะไรกันแต่ แต่จากข้อมูลพบว่าพื้นที่บริเวณข้างเคียงเกิดหารทรุดตัวของดินในนาข้าวของชาวบ้านมาแล้วหลายครั้ง มาตั้งแต่ปี 2561  โดยเกิดขึ้นที่บ้านเนินสยาม ห่างจากจุดนี้ประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งทางนักวิชาการได้มาตรวจสอบแล้วให้ข้อมูลว่าด้านล่างบริเวณนี้เป็นชั้นหินปูน เมื่อโดนน้ำตามกาลเวลาก็เกิดการสึกกร่อนของชั้นหินปูน จึงทำให้เกิดการยุบตัวของชั้นดินลงไป แต่โชคดีที่ยังมีชั้นดินเหนียวที่คอยช่วยพยุงชั้นดินไว้จึงทำให้ไม่ส่งปลกระทบมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าจะพยุงไว้ได้อีกนานแค่ไหน เพราะนับตั้งแต่ปี 61 มาจนถึงปัจจุบันก็เกิดเหตุมาอีกหลายครั้งแล้ว แต่ยังโชคดีที่ยังเกิดเพียงในพื้นที่นาข้าวและที่สาธารณะยังไม่เกิดขึ้นในชุมชนหรือบ้านเรือนของประชาชน

นายเขมพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในเบื้องต้นนี้ทางอำเภอจึงจะมีการควบคุมและเฝ้าระวังพื้นที่นี้ไว้ก่อน ไม่อนุญาตให้ลงไปในจุดเกิดหลุมยุบเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และจะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนที่ อบต.ผางาม เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกะทบทั้งหมดและให้ทาง อบต.ผางาม ทำหนังสือมายังอำเภอเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรธรณีวิทยา หรือทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรกันแน่ และแนวทางป้องกันและแก้ไขในระะยาวต่อไป

เวลาต่อมาได้มีนายรณชัย ปาลี ผู้เชี่ยวชาญธนาคารน้ำใต้ดิน  พร้อมด้วยทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และได้ลงไปในบริเวณหลุมยุบ โดยได้ทำการวัดความลึกของระดับน้ำ โดยพบว่าน้ำในบ่อมีความลึกประมาณ 3.5 เมตร และกล่าวว่าเบื้องต้นเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ วึ่งอาจจะเกิดจากกระแสน้ำใต้ดิน หรือมีพื้นที่เกิดโพลงยุบชั้นใต้ผิดดินทำให้น้ำหายไป แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ระดับน้ำจะกลับมาอยูในระดับเดิมอีกครั้ง ส่วนระยะเวลาก็แล้วแต่สถานที่ไป ไม่สามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้

ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า หลังเกิดการยุบตัวของดินจนน้ำแห้งหมดบ่อและพันธฺุ์ปลาหายไป ได้มีชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ ที่ทราบข่าวได้พากันเดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าเป็นอาเพศบ้าง  เป็นฝีมือของพญานาคบ้าง หรือเป็นธรณีสูบบ้าง ว่ากันไปตามความเชื่อ แต่ยังไม่ใครทราบแน่ชัดว่าการทรุดตัวของดินเกิดขึ้นได้อย่างไร จนถึงขึ้นเอาน้ำที่มีความสูงถึงกว่า 5-6 เมตรในขนาดบ่อกว้าง 3 ไร่และปลาอีกหลายหมื่นตัวหายไปได้ 

โดยมีชาวบ้านบางคนได้ตั้งข้อสังเกตุและข้อสงสัยว่าอาจเกิดจากการทำระเบิดหินในพื้นที่ ซึ่งมีบริษัทเอกชนเข้ามาสัมปทานระเบิดหินที่ดอยผางามถึง 2 บริษัท ซึ่งเป็นได้ว่าอาจมีการสูบน้ำไปใช้ในการระเบิดจนทำให้สายน้ำหรือชั้นทรายใต้ดินหายไปจนเกิดการทรุดตัวของดินที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง