วันที่ 27 พ.ย.65 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า ...
รายงานการศึกษาทั้งสองชิ้นในวารสาร Cell Metabolism (clinical and translational report) 4 ตุลาคม 2022 ตอกย้ำการให้ความสำคัญกับเรื่องของอาหาร ซึ่งขณะนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่มากผัก ผลไม้ กากใย น้ำมันมะกอก ไวน์แดง แป้งไม่มาก จัดเป็นอาหารช่วยชีวิต
ซึ่งในคนไทยเราก็มีผักผลไม้มากมายมหาศาลตามฤดูกาลอยู่แล้ว ปรับแต่งให้เข้ากับรสชาติไทยๆ เป็นส้มตำ เคียงผักนานาชนิด แต่อย่าให้เค็มมาก ลดข้าวเหนียวลงบ้าง เนื้อสัตว์ทั้งหลายพยายามหลีกเลี่ยง แต่ได้โปรตีนจากถั่ว จากพืช และปลา ปู กุ้ง หอย
แต่คำถามหลักใหญ่อีกข้อคือ ถ้ากินเท่าเดิม เป็นชนิดของอาหารที่ดีตามข้างต้น จะกินตอนไหนดีตั้งแต่หลังตื่นนอน หรือชะลอไปเที่ยงหรือหลังเที่ยงไปจนกระทั่งถึงสอง สามทุ่ม แบบไหนจะดีกว่ากัน หรือจะเรียกกันง่ายๆว่า early eater กับ fast eater เหมือนที่มีการศึกษาก่อนหน้าและหมอได้เคยเรียนให้ทราบในบทความ งดข้าวเช้า ตายเร็ว ในคอลัมน์สุขภาพหรรษานี้
และไม่นานมานี้ เราก็ทราบว่าการกินเป็นช่วงสั้นและกินแต่น้ำในช่วงเวลาที่เหลือในแต่ละวัน หรือจะเป็นเพียงผลไม้ที่เรียกว่า ไอ-เอฟ หรือ intermittent fasting โดย กิน 6 อด 18 ชั่วโมง หรือกิน 8 อด 16 ชั่วโมง หรือในหนึ่งสัปดาห์ กินปกติหกวัน ที่เหลืออีกหนึ่งวัน กินแต่น้ำ
โดยที่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ พิสูจน์แล้วว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง ปลอดจากโรคคาร์ดิโอเมตาบอลิก (cardio metabolic) รวมทั้งมีรายงานพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดความรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากการติดโควิด แต่ช่วงเวลาที่กิน ไอ-เอฟ จะกินตั้งแต่ครึ่งเช้าหรือจะกินบ่ายหรือค่ำ โดยระยะเวลาที่กินนั้นเท่ากัน
คำถามว่าจะกินตอนไหน กินเมื่อไหร่ และจะปล่อยให้กินได้ยาวนานเท่าใด
รายงานแรกจากคณะทำงาน Salk Institute for biological studies, La Jolla กับ University of California, San Diego ทำการศึกษาในอาสาสมัครที่เป็นนักผจญเพลิงที่ทำงานเป็นกะ กะละ 24 ชั่วโมง และให้กินอาหารได้เป็นระยะ (time restricted eating) ในช่วงเวลา 10 ชั่วโมง เทียบกับให้มีอิสระมากขึ้นในการกินอาหารให้ได้ระยะเวลาถึง 14 ชั่วโมง โดยอาหารการกินนั้นเป็นอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนเหมือนกัน และแบ่งกลุ่มละ 75 คน ศึกษาการกินอาหารดังกล่าวเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ มีข้อมูลสุขภาพพื้นฐานก่อนทำการศึกษาอย่างครบถ้วน และมีการประเมินข้อมูลสุขภาพอย่างถี่ยิบ ซึ่งรวมถึงระดับไขมัน ชนิดของไขมัน ความดันโลหิต ความอ้วน ระดับน้ำตาลสะสม และอื่นๆอีกมาก
ผลปรากฏว่ากลุ่มที่กำหนดช่วงเวลาที่ให้กิน (time window) 10 ชั่วโมงนั้น มีสุขภาพดีแข็งแรงขึ้นกว่าอีกกลุ่มและภาวะสุขภาพทางคาร์ดิโอเมตาบอลิกดีขึ้น และควรจะได้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานเป็นกะ กะละถึง 24 ชั่วโมง โดยคนในกลุ่มนี้มีการศึกษาก่อนหน้าว่า สุขภาพเสื่อม โทรมไปทั้งสิ้น
สำหรับในรายงานที่สองนั้น มาจากภาควิชาอายุรศาสตร์และประสาทวิทยา ฮาร์วาร์ด บอสตัน ร่วมกับสถาบันในประเทศเยอรมนีและสเปน
โดยตั้งสมมติฐานจากการที่มนุษย์จะมีนาฬิกาชีวิต หรือสมอง กำหนดระยะเวลาของการกิน การออกกำลัง การทำงาน และการนอนหลับ ซึ่งมีส่วนที่แปรเปลี่ยนและสัมพันธ์กับเวลากลางวันและกลางคืน ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าตื่นขึ้นมาปุ๊บแล้วกินเลย โดยให้ระยะเวลาการกินอยู่ที่ 5 ชั่วโมง และเทียบกับเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่ได้กินอาหาร กินข้าวเช้า แต่ไปเริ่มกินเอาเที่ยงหรือบ่ายไปแล้ว จนกระทั่งถึงหัวค่ำ
โดยที่ทั้งสองกลุ่มนี้ กลุ่มใดจะให้ผลกระทบในทางเลว ในแง่ของการปรับอุณหภูมิในร่างกาย การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานของร่างกายและศึกษาลึกลงไปจนถึงเนื้อเยื่อไขมันในการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของไขมัน
การศึกษานี้คัดสรรซอยย่อยตั้งแต่อาสาสมัคร 2,150 ราย และมีคุณสมบัติที่จะสามารถเข้าร่วมในการวิจัยอย่างเข้มข้นได้หรือไม่ จนกระทั่งท้ายสุดเหลืออยู่เพียงจำนวน 16 คน และแบ่งออกเป็นกลุ่มกินแต่เช้าเจ็ดคน และกลุ่มที่กินล่าช้าไปจนกระทั่งถึงเย็นค่ำเก้าคน และให้มีรูปแบบแผนในการกินเร็วและกินช้าแบบนี้สลับสับเปลี่ยนกัน โดยมีช่วงเวลาพัก (wash out period) ระหว่างสามถึง 12 สัปดาห์
ผลของการศึกษาพบว่า กลุ่มที่กินช้าจะมีความรู้สึกหิวมากกว่า คล้องจองไปกับการที่มีฮอร์โมนที่เพิ่มการหิวข้าว และมีระยะตื่น (wake time) มากกว่า อัตราสัดส่วนของฮอร์โมน ghrelin ต่อ leptin ที่ 24 ชั่วโมงนั้นสูงขึ้น มีระบบการเผาผลาญใช้พลังงานลดลง และอุณหภูมิในร่างกายตลอด 24 ชั่วโมงลดลง
นอกจากนั้นการวิเคราะห์ยีน พบว่า ยีนที่ควบคุมความเสถียรของเซลล์ และการคุมการคงมีชีวิตและการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ ในระบบ autophagy เป็นในทิศทางที่แย่ลง รวมทั้งมีการเผาผลาญไขมันลดลงและมีการเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อไขมันมากขึ้น ซึ่งทั้ง หลายทั้งปวงนี้บ่งบอกถึงการมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน และโรคที่ตามติดมาจากผลพวงดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยทั้งสองกลุ่มต่างก็ให้ข้อสรุปในทิศทางคล้ายกัน คือเริ่มกินตั้งแต่เช้าหรืออย่างดมื้อเช้า และจำกัดระยะเวลาของการกินอยู่ในช่วง 5 ถึง 10 ชั่วโมงแรก และประเพณี ประพฤติ ปฏิบัติของการกินมื้อเย็น ดินเนอร์ตอน 5 โมงเย็น หรือล่าช้าไปถึงทุ่มหรือสามทุ่ม จะเป็นสิ่งที่ให้ผลดีต่อสุขภาพหรือไม่ และการกินตอนสายจนไปถึงบ่าย กลับจะเพิ่มความตะกละ อยากกิน จนอาจจะต้องลุกขึ้นมาหาอะไรกินตอนกลางคืน หรือตอนดึกไปอีก
และอาหารมื้อเช้านั้น น่าจะเป็นมื้อที่ใหญ่ที่สุดหรือไม่ จึงมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจากสกอตแลนด์และอังกฤษ พบว่า มื้อเช้าอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องเป็นมื้อใหญ่เสมอไป แต่อยู่ในระยะเวลาของการกินและปริมาณของอาหารและชนิดของอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ที่เรียนให้ทราบถึงตรงนี้ เพื่อที่จะให้รู้สึกสบายใจและมั่นใจที่จะเริ่มประพฤติปฏิบัติในการกินอาหารสุขภาพ ทราบถึงเวลาและระยะเวลาของการกิน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสุขภาพของร่างกายโดยรวม คุณภาพของการนอน และแน่นอน ส่งผลไปถึงสมองทำให้เสื่อมช้าลง (resistance) หรือแม้แต่เสื่อมแล้วก็ยังไม่แสดงอาการออกมาได้ (resilience)
ชีวิตของเราเองเลือกได้ ที่จะไม่เป็นภาระต่อครอบครัว สังคม และทำให้ประเทศไทยของเรามั่งคั่งครับ.