คอลัมน์ ประเทศไทย3.5 โดย ไพศาล มังกรไชยา จากแฮมเบอร์เกอร์ถึงขาหมูเยอรมัน กรณีดอยช์แบงก์ธนาคารพาณิชย์หมายเลข1สัญชาติเยอรมนี ซึ่งเป็นประเด็นร้อนของโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ นักการเงินตลอดจนโหรเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อย ฟันธงว่าจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ "ซับไพรม์" รอบที่สองในเร็วๆนี้ วิกฤตการณ์"ซับไพรม์"รอบแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 เริ่มต้นจากวาณิชธนกิจใหญ่คือเลห์แมน บราเธอร์ส จากฝั่งสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นจริงอย่างที่บรรดานักการเงินและโหรเศรษฐกิจฟันธงไว้ ก็หมายความว่าวิกฤตการณ์การเงินที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ฟื้นตามมาตรการผ่อนคลายที่ทั้งลดดอกเบี้ยจนดอกเบี้ยติดลบและอัดฉีดเงินกันมากมายมหาศาลเป็นประวัติการณ์แล้ว ซ้ำร้ายยังเกิดอาการเรื้อรังเป็นแผลกลัดหนองขึ้นที่ธนาคารพาณิชย์ทางฝั่งยุโรป กลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่อีกรอบ ซึ่งจะยาวนานไปอีกเท่าไรและคราวนี้จะต้องแก้กันด้วยมาตรการอะไร ล้วนเป็นเรื่องน่าปวดหัวมากๆ อันที่จริงกรณีดอยช์แบงก์ ก็รู้ๆกันมาตลอดว่า เป็นธนาคารพาณิชย์ก็จริง แต่คงเนื่องจากเยอรมนีและยุโรปเล็กเกินไป จึงเริ่มทำธุรกิจเก็งกำไรเหมือน โกลแมน แซคส์ เจพี มอร์แกน และเลห์แมน บราเธอร์ส ที่เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนหรืิอวาณิชธนกิจของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ดอยช์แบงก์เติบโตเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลก มีสาขากว่า 70 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยและมีพนักงานราว 1 แสนคน และจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นเยอรมนีและตลาดหุ้นนิวยอร์ค เมื่อฟองสบู่ตราสารอนุพันธ์โดยเฉพาะที่เรียกว่า"ซับไพรม์"แตกเมื่อ 2008 ก็คาดกันอยู่แล้วว่า ผู้ร้ายคงไม่มีเพียงเลห์แมน บราเธอร์ส์ รายเดียว และล้มละลายแล้วเป็นอันปิดฉาก ดอยช์แบงก์ ซึ่งแข็งแรงพอที่จะผ่านช่วงวิกฤตการณ์มาได้โดยไม่ต้องให้ทางการเยอรมนีนำเงินภาษีอากรมาช่วยพยุงเหมือนกับหลายๆแบงก์ เช่น ยูบีเอส และเครดิตสวิส เป็นต้น แต่ก็ถูกทางการสหรัฐฯสืบสวนสอบสวนว่า น่าจะเป็นต้นตอหรือเกี่ยวข้องกับการปั่นราคาตราสารอนุพันธ์และอีกหลายๆกรณี เช่นการปั่นอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ การปั่นราคาทองคำและเงินในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยกรณีข้อกล่าวหาว่าดอยช์แบงก์มีพฤติกรรมปั่นอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ที่ใช้อ้างอิงกันทั้งโลก สหรัฐฯสั่งปรับดอยช์แบงก์เมื่อปีที่แล้ว 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราง 8.65 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าปรับฐานปั่นราคาทองคำและเงิน ก็เป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร แต่ทั้งผู้สั่งปรับและผู้ถูกปรับไม่ยอมเปิดเผยตัวเลข ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ล่าสุดจนหุ้นดอยช์แบงก์ร่วงอย่างหนักทั้งที่ฝั่งนิวยอร์คและฝั่งเยอรมนีอีกทั้งสะเทือนถึงหุ้นของกลุ่มธนาคารร่วงลงไปด้วยเป็นกรณีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเรียกค่าปรับดอยช์แบงก์สูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 4.85 แสนล้านบาท)ข้อหาซื้อขายตราสารที่อิงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หรือ MBS ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดวิกฤตการณ์"ซับไพรม์"ปี 2008 มีข้อเท็จจริงว่า ยังมีธนาคารและวาณิชธนกิจอีกหลายแห่งต้องตกที่นั่งเดียวกับดอยช์แบงก์ เพียงแต่ดอยช์แบงก์เจอเข้าไปหลายคดีและค่าปรับรวมๆแล้วต้องบอกว่าสูงมากๆ ขณะเดียวกันก็ว่ากันว่าดอยช์แบงก์เสี่ยงลงทุนในตราสารอนุพันธ์ต่างๆ เช่นหุ้นกู้แปลงสภาพแบบมีเงื่อนไขหรือ"โคโคบอนด์" โดยถือครองประเภทที่มีกำหนดไถ่ถอนในปี 2017 หรือปีหน้านี้สูงถึง 4,300 ล้านยูโรหรืิอราวๆ 1.67 แสนล้านบาท รวมๆแล้วตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า จำนวนเม็ดเงินที่ดอยช์แบงก์จะต้องจ่ายเป็นค่าปรับและไถ่ถอนโคโคบอนด์ ก็น่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ถ้าจะให้อยู่รอดปลอดภัย รัฐบาลเยอรนีหรือ ECB (ธนาคารกลางยุโรป)ก็จะต้องเข้ามาช่วย ซึ่งก็จะกลายเป็นมาตรฐานว่า จะต้องช่วยสถาบันการเงินอีกมากที่จะค่อยๆแสดงอาการฝีแตกออกมาเหมือนดอยช์แบงก์ สรุปว่า ดอยช์แบงก์ก็มีโอกาสที่จะล้มละลายได้ เพราะไม่มีใครกล้าช่วย และหากล้มละลายเมื่อใด ที่โหรเศรษฐกิจประกาศฟันธงไว้ ก็คงจะเป็นจริงตามนั้น คือทั้งโลกก็จะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์"ซับไพรม์"ครั้งที่ 2 ซึ่งเมื่อเกิดทางฝั่งสหรัฐฯถูกเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ คราวนี้ก็น่าจะต้องเรียกว่าวิกฤตการณ์ขาหมูเยอรมัน ตามแนวทางที่เรียกฟองสบู่ของไทยแตกเมื่อ พ.ศ.2540 ว่า วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง นั่นเอง ประเทศไทยเวลานี้จึงต้องจับตากรณีดอยช์แบงก์ให้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาคส่งออกที่ชลอตัวอันสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า หากเกิดวิกฤตการณ์รอบใหม่ เศรษฐกิจทั้งโลกเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบทำให้ต้องกลับมาทรุดลงอีก โดยเฉพาะยุโรปที่ก็เปราะบางอยู่แล้วรวมทั้งญี่ปุ่น ที่อาจจะพอประคับประคองตัวได้ก็จะมีเพียงสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้บ้างแล้ว สถานการณ์อย่างนี้ หมายความว่าภาคส่งออกของไทยจะยังอยู่ในสภาพที่ติดลบต่อไป และก็จะเป็นไปอีกยาวนาน เช่นเดียวกับผู้ส่งออกอีกหลายๆประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่พ้นต้องอาศัยการเร่งเครื่องของการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภายในและที่ยังพอพึ่งพาอาศัยได้ก็คือภาคการท่องเที่ยว มีผู้เสนอแนะว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี ส่งออกไทยไม่ฟื้น การทำมาหากินที่กำลังเร่งจัดระเบียบกันมาพักใหญ่และจะยังเดินหน้ากันต่อไปจะพักไว้ก่อนดีหรือไม่ เช่นภาคการท่องเที่ยวเรื่องปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ การกวาดล้างทางเท้าทำให้แผงค้าต้องขาดรายได้ และหลายพื้นที่เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว เช่นย่าน ปากคลองตลาด สะพานพุทธฯ สีลม ประตูน้ำ รวมทั้งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ พังงา กระบี่ หัวหิน และอีกมาก ผู้เสนอแนะนี้เห็นว่า พลังที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น เศรษฐกิจแบบเทาๆ ไปจนถึงเศรษฐกิจใต้ดิน มีบทบาทที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นต้นตอของการขาดวินัย ไม่เคารพกฎหมายและการทุจริตตลอดจนการแสวงหาประโยชน์ของข้าราชการและนักการเมืองทั้งโครงสร้าง เป็นปัญหาใหญ่ที่ควรจะต้องลงมือแก้ไขกันมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู แต่ก็ไม่ทำ อันที่จริงก็มีตัวอย่างความสำเร็จของหลายๆเมืองที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดระเบียบและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างอาชีพได้เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน ถ้าประเทศไทยทำไม่ได้ก็คงน่าเสียดายมาก จากเรื่องของดอยช์แบงก์จนมาถึงปัญหาที่คนไทยบ่นว่าเวลานี้ทำมาหากินยากขึ้นทุกวัน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันอยู่เพราะเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่บางคนก็จะพิจารณาเพียงเหตุปัจจัยใกล้ตัวเป็นหลัก สถานการณ์อย่างนี้ ว่ากันว่าผู้ที่จะนำพาให้ประเทศไทยก้าวข้ามไปได้ สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและแก้ปัจจัยภายในให้ลุล่วงได้ จะต้องเป็นระดับโคตรเซียนจริงๆ