นักวิจัยไทยและสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกันค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก ในสกุล Cincticostella Allen,1971 ที่จังหวัดน่าน

คณะวิจัย ประกอบด้วย อ.ดร.ชลกรานต์ อวยจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และรศ.ดร.บุญเสฐียร  บุญสูง อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Dr. Michel Sartori สังกัด Museum of Zoology เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส ร่วมกันค้นพบแมลงชีปะขาว Cincticostella ebura สกุล Cincticostella Allen, 1971 (วงศ์ Ephemerellidae) ชนิดใหม่ของโลก ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าว อ.ดร.ชลกรานต์ อวยจินดา และ รศ.ดร. บุญเสฐียร  บุญสูง ได้ทำการสำรวจและวิจัยความหลากหลายของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG4-161004)

สำหรับ แมลงชีปะขาว Cincticostella ebura ชนิดใหม่ของโลก พบในลำธารต้นน้ำแม่น้ำว้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งลักษณะทั่วไปของแมลงชีปะขาว ถิ่นกำเนิด และลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก

รศ.ดร.บุญเสฐียร บุญสูง กล่าวว่า ทั่วโลกพบแมลงชีปะขาวสกุล Cincticostella ทั้งหมด 21 ชนิดแบ่งออก 3 กลุ่ม (complex) ได้แก่ insolta complex gosei complex และ nigra complex (Martynov et al., 2021) รายงานครั้งแรกของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุล Cincticostella ในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เดิมมีชื่อว่า Ephemerella sp. TEA Gose, 1969 และ Ephemerella (Cincticostella) boja Allen, 1975 ตามลำดับ หลังจากมีการทบทวนใหม่ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องคือ Cincticostella femorata (Tshernova, 1972) (Jacobus and McCafferty, 2008) ปัจจุบันในประเทศไทยพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุลนี้ทั้งหมด 4 ชนิด โดยอีก 3 ชนิด คือ Cincticostella gosei (Allen, 1975) Cincticostella insolta (Allen, 1971)  และ Cincticostella ebura Auychinda, Sartori & Boonsoong, 2022 (ชนิดใหม่ในการศึกษาครั้งนี้)

 ลักษณะเด่นของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุล Cincticostella คือ อกปล้องแรกและขอบของอกปล้องกลางมีส่วนยื่นไปด้านหน้าค่อนไปด้านข้าง (anterolateral projections) และแมกซิลลา (maxilla) มีฟันเขี้ยวลดรูปเป็นแผ่น (denticulate blade) การศึกษาครั้งนี้ได้จัดทำรูปวิธานจำแนกชนิดไว้ด้วย ส่วนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่น คือ ลำตัวสีคล้ำมีแถบสีขาวตรงกลางตั้งแต่ส่วนหัว อก และท้อง maxillary palp มีจำนวน 3 ปล้อง และปล้องที่ 3 คล้ายรูปโคน สันบริเวณตรงกลางของปล้องท้องยาวและโค้งคล้ายงาช้าง นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอบาร์โค้ดด้วยยีน COI เทียบกับชนิดอื่นพบว่า Cincticostella ebura มีค่าระยะห่างทางพันธุกรรมต่างจากชนิดอื่นร้อยละ 21-26 และจัดอยู่ในกลุ่ม nigra complex โครงสร้างไข่แมลงชีปะขาวชนิดใหม่คล้ายกับชนิด C. colossa C. fusca และ C. orientalis

ชื่อสามัญแมลงชีปะขาว และชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Cincticostella ebura Auychinda, Sartori & Boonsoong, 2022 โดยตั้งชื่อตามลักษณะเด่น คือ ลักษณะของสันบริเวณตรงกลางของปล้องท้องยาวและโค้งคล้ายงาช้าง (ivory) ด้านความหลากหลาย และการอนุรักษ์ นั้น ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุล Cincticostella ทั้ง 4 ชนิดในประเทศไทยพบมากบริเวณลำธารต้นน้ำ ในภาคเหนือ ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว Cincticostella femorata (Tshernova, 1972) ชอบอาศัยอยู่ใต้ก้อนหินน้ำไหลแรง และมีระบบนิเวศที่จำเพาะ พบในลำธารจังหวัดจันทบุรี แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีรายงานพบที่ประเทศจีนและเวียดนาม การสำรวจความหลากหลายของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเบื้องต้นในลำธารต้นน้ำน่าน จังหวัดน่าน พบว่ามีความหลากชนิดค่อนข้างสูง พบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวทั้งหมด 14 วงศ์ 35 สกุล 43 ชนิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดน่านยังมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ต่อการดำรงชีวิตของแมลงชีปะขาวหายากบางสกุลซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยโดยเฉพาะสถานีเก็บตัวอย่างแม่น้ำว้าพบว่ามีความหลากหลายของแมลงชีปะขาววงศ์ Ephemerellidae สูงการศึกษาครั้งนี้พบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่อาศัยอยู่ร่วมกับตัวอ่อนแมลงชีปะขาววงศ์เดียวกัน เช่น Cincticostella insolta (Allen, 1971) Notacanthella quadrata (Kluge & Zhou, 2004) และ Notacanthella commodema (Allen, 1971) จากการศึกษาครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุล Cincticostella ในประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นสกุลที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมในลำธาร สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำและความสมดุลของระบบนิเวศได้