วันที่ 24 พ.ย.65 นายบุญชู วงษ์อนุ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และนายร่ม วรรณประเสริฐ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ถือเป็นเกษตรกรอีก 2 ราย ที่ผ่านการอบรมโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี จนประสบความสำเร็จสารมารถนำพากลุ่มสู่ความมั่นคงได้ในปัจจุบัน 

นายบุญชู วงษ์อนุ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า จากเดิมกลุ่มได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆในรูปแบบหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และได้รับการสนับสนุนส่งเสริม จากกรมส่งเสริมการเกษตรมาก่อนที่จะมีโอกาศได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี กรมการข้าว เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ดีในกลุ่ม มาปลูกขยายในพื้นที่ของกลุ่มเองก่อน เพื่อให้สมาชิกมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีใช้กันเองก่อน จากนั้นกลุ่มได้ต่อยอดพัฒนากลุ่มมาเป็นศูนย์ข้าวชุมชน มีสมาชิก 38 ราย มีพื้นที่ 1,000 กว่าไร่  ถือว่าตั้งแต่เข้าร่วมกับกรมการข้าวมาผลผลิตข้าวก็ดีขึ้น ราคาก็ค่อนข้างจะดี นอกจากนี้ทางกรมการข้าวได้มีการรับรองพันธุ์ข้าว กข79 สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวนาในการมีข้าวเจ้าพื้นนุ่ม พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี เมื่อพันธุ์ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรในพื้นที่ก็ปลูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาในแต่ละปีเพิ่มขึ้นมาเป็น 9,000 บาท ต่อตัน ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่ 7,000 กว่าบาทต่อตัน

นายบุญชู กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการรวมกลุ่มเป็นศูนย์ข้าวชุมชนแล้ว ตนยังเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี และมีแนวคิดที่ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีกับเกษตรกรในพื้นสามารถทำงานควบคู่กันไปได้ จึงได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้เครื่องจักรกลแก่เกษตรกรสมาชิกมากยิ่งขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงแก่อาชีพเกษตรกร

ด้านนายร่ม วรรณประเสริฐ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เล่าว่า ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น มีสมาชิก 42 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าว 1,640 ไร่ เน้นปลูกข้าว พันธุ์ กข79 และพันธุ์ กข85 ซึ่งข้าวพันธุ์ กข79 เป็นข้าวพื้นนุ่ม โรงสีรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเนื่องจากว่าเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนข้าวพันธุ์ กข85  เป็นข้าวแข็ง แต่เนื่องจากเหมาะกับสภาพดิน สามารถต้านทานโรค แมลงศัตรูข้าว และได้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ทางกลุ่มจึงนิยมปลูก 2 พันธุ์นี้มากที่สุด  สำหรับศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ก็ได้สนับสนุนมอบองค์ความรู้  วิธีการบริหารจัดการกลุ่ม การรวมกลุ่ม การทำเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (GAP) ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์และการใช้ปุ๋ยที่ถูกวิธี จนปัจจุบันถือว่ากลุ่มมีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง  และตนในฐานะเกษตรกรปราดเปรื่อง ได้มีการต่อยอดกระจายความรู้ทั้งแก่สมาชิกและพี่น้องเกษตรกรที่ทำนา ให้มีความรู้ความเข้าใจ ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูง  ทำนาอย่างไรให้มีกำไร นั่นก็คือต้องพยายามลดต้นทุน พยายามหาวิธีการที่จะทำให้ต้นทุนต่ำลง และให้ความรู้เรื่องพันธุ์ข้าว ว่าตอนนี้ตลาดต้องการข้าวพันธุ์ชนิดใด พันธุ์ไหนราคาสูง และส่งเสริมให้ปรับใช้กันมากขึ้น  

“ถือได้ว่าปัจจุบันนี้กลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นมาก ทั้งด้านการบริการจัดการกลุ่ม การผลิตข้าวให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น กำไรก็เข้ามามากขึ้น พี่น้องเกษตรกรสมาชิกก็เกิดความเข้มแข็งตามไปด้วย”