สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

พระพิมพ์ยืนต้องยกให้ “พระร่วงหลังลายผ้า” แต่ถ้าพระพิมพ์นั่งล่ะก็ต้องเป็น “พระหูยาน ลพบุรี” 

ในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วประเทศ มักจะค่อนข้างคุ้นหูกับคำกล่าวสำหรับพระเครื่องเมืองละโว้หรือจังหวัดลพบุรี ที่ว่า ... พระพิมพ์ยืนต้องยกให้ “พระร่วงหลังลายผ้า” แต่ถ้าพระพิมพ์นั่งล่ะก็ต้องเป็น “พระหูยาน ลพบุรี” ... พระทั้งสองพิมพ์นี้ เรียกได้ว่าเป็นพระเครื่องอันดับหนึ่งของจังหวัด ที่เป็นที่แสวงหากันอย่างมาก ณ ปัจจุบัน ฉบับนี้เราจะคุยกันเรื่อง พระพิมพ์นั่ง คือ “พระหูยาน ลพบุรี” ครับผม

พระหูยานพิมพ์เล็ก

พระหูยาน ลพบุรี สร้างเมื่อสมัยขอมยังเรืองอำนาจ ขอมมีอิทธิพลเหนือเมืองละโว้หรือลพบุรี ใช้เมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นศูนย์กลางในการบัญชาราชการงานบ้านเมือง ศาสนา ศิลปะ ดังนั้นวิทยาการทั้งหลายแหล่ของขอมล้วนมีกำเนิดที่เมืองละโว้ ทั้งสิ้น ลักษณะของพระหูยานเป็นพระพิมพ์เนื้อชิน พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนกลีบบัวเล็บช้าง แบบชั้นเดียวและสองชั้น (บัวคว่ำ-บัวหงาย) พระเกศเป็นรูปบัวตูม พระพักตร์คว่ำแสดงถึงญาณอันแก่กล้า และมีลักษณะเคร่งเครียดอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะขอม พระกรรณยาวจดพระอังสา วงการพระเครื่องจึงขนานนามว่า “พระหูยาน” สามารถแบ่งแยกเป็น 3 พิมพ์ คือ พระหูยาน พิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงจากฐานถึงยอดสุดประมาณ 5.5 ซม. พระหูยาน พิมพ์กลาง และพระหูยาน พิมพ์เล็ก ซึ่งจะมีขนาดลดหลั่นกันลงมา ด้านพุทธคุณเป็นเลิศทั้งด้านคงกระพันชาตรีตามแบบฉบับของขอม และเมตตามหานิยมครบครัน

พระหูยานพิมพ์ใหญ่

พระหูยาน ลพบุรี มีการขุดค้นพบที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นหลัก จึงนิยมเรียกกันติดปากว่า “พระหูยาน ลพบุรี” นอกจากนี้ ยังมีปรากฏที่กรุอื่นๆ อีกเช่น กรุวัดอินทาราม กรุวัดปืน กรุวัดราษฎร์บูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี กรุวัดค้างคาว จ.เพชรบุรี และพระหูยานเมืองสรรค์ เป็นต้น

สำหรับพระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี มีการแตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2450 เราเรียกว่า “พระกรุเก่า” ต่อมาได้มีการขุดค้นอย่างไม่เป็นทางการหลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งปี พ.ศ.2508 ก็แตกกรุออกมาอีกเป็นจำนวนมากที่บริเวณพระเจดีย์องค์เล็กหน้าพระปรางค์ จึงให้ชื่อว่า “พระกรุใหม่”           

พระหูยานพิมพ์ใหญ่กรุใหม่          

“พระหูยานกรุเก่า” ผิวจะปลอดจากคราบผิวปรอทขาวโพลน มีขุมสนิมกัดกินลึกในเนื้อ มีรอยระเบิดแตกปริ สำหรับ “พระหูยานกรุใหม่” ส่วนมากจะมีพรายปรอทขาวซีดๆ ทั้งอยู่ในสภาพสมบูรณ์งดงามมาก มีเพียงบางองค์ที่มีรอยแตกปริและขุมสนิมบางส่วน เสมือนหนึ่งเป็นคำประกาศยืนยันถึงความเก่าแก่ของอายุขัย พระกรุใหม่บางส่วนถูกฝังรวมไว้กับพระพุทธรูปบูชาซึ่งเมื่อเวลาเกิดคราบสนิมจะเป็นสีเขียว และคราบเขียวของพระพุทธรูปบูชานี้ได้ลุกลามไปติดเป็นคราบสนิมของพระหูยานกรุใหม่ด้วย จึงกลายเป็นตำหนิสำคัญที่นักเลงพระเครื่องเนื้อชินเขาใช้ประกอบในการพินิจพิจารณาพระหูยานกรุใหม่

พระหูยานพิมพ์ใหญ่ชินเงินกรุเก่า

นอกจากนี้ วงการพระเครื่องยังได้กำหนดลักษณะหรือศิลปะของพระหูยานลพบุรี แยกไว้เป็น 2 แบบ คือ พระหูยานหน้ายักษ์และพระหูยานหน้ามงคล

“พิมพ์หน้ายักษ์” ศิลปะบนใบหน้าดูค่อนข้างเหลี่ยม รายละเอียดของคิ้ว ตา และปากจะลึกกว่า ปากจะแบะกว้างเล็กน้อย “พิมพ์หน้ามงคล”  เค้าหน้าจะมนกว่าหน้ายักษ์ ปากก็ดูแคบกว่าเล็กน้อย

พระหูยานพิมพ์ใหญ่ชินเงินกรุใหม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ชำนาญการบางกลุ่มได้ชี้แนะเพื่อให้สะดวกในการพิจารณาพระหูยานไว้เป็น 2 ประเด็น คือ ถ้าเป็น “พิมพ์หน้ายักษ์” นั่นคือพระหูยาน พิมพ์ใหญ่ และถ้าเป็น “พิมพ์หน้ามงคล” ก็คือพระหูยาน พิมพ์กลาง ส่วน พระหูยาน พิมพ์เล็กไม่ได้มีการพูดถึงไว้ สำหรับพิมพ์ด้านหลังของพระหูยานลพบุรี จะมีเอกลักษณ์เหมือนกันหมดทุกพิมพ์ คือ เป็นลายผ้ากระสอบที่ความถี่-หยาบเหมือนกันทุกองค์ครับผม

พระหูยานพิมพ์กลาง