ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คอมมิวนิสต์ถ้าเกิดขึ้นได้จริง ชีวิตก็จะสุขสมบูรณ์ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมและยุติธรรม

ชีวิตบนเขาค้อแม้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากและหวาดกลัว แต่ก็มีความหวังอยู่เสมอว่าจะต้องพบกับ “โลกใหม่” ในสักวัน อัมพรและทุกคนที่อยู่ที่นั่นจะได้รับการ “กรอกหู” ในทุกวันด้วยภาพฝันที่อยู่แค่เอื้อมถ้าทุกคนมุ่งมั่น สหายครูที่มาพูดในสิ่งเหล่านั้นจะพร่ำสอนว่า “สิ่งมีค่ากับความหายากเป็นของคู่กัน” บางคนได้ยกตัวอย่างการต่อสู้ของเหมาเจ๋อตุง ผู้นำของคอมมิวนิสต์จีนที่อดทนและฝ่าฟัน ทั้งด้วยการรอคอยนับเป็นปี ๆ และเดินทางไกลนับแสนลี้ รวมถึงที่ยกตัวอย่างคอมมิวนิสต์ของยุโรป ที่ก็ต้องฝ่าฟันอย่างยากลำบากเช่นกัน

อัมพรมาอยู่บนเขาได้ครึ่งปีก็เข้าหน้าแล้ง อากาศบนเขาร้อนมาก แตกต่างจากหน้าหนาวที่ผ่านมาอย่างลิบลับ ต้นไม้ที่เป็นพุ่มเขียวก็โกร๋นใบ ก้อนหินทุกก้อนโดนแสงแดดเต็ม ๆ ทั้งวัน หุบเขากลายเป็นเตาอบระอุในยามกลางคืนเมื่อมันคลายความร้อนออกมา บางคืนนั้นกว่าจะได้นอนก็รุ่งสว่างเพราะก้อนหินยังคลายความร้อนไม่หมด น้ำท่าก็หายาก ทำให้ต้องประหยัดเวลาจะอาบน้ำ น้ำที่ตักใส่โอ่งแอ่งต่าง ๆ ต้องเอาไว้ดื่มกินและปรุงอาหารเป็นหลัก ถ้าจะอาบน้ำก็ได้แค่เอาผ้าขาวม้าชุบมาลูบตัว หลายคนเป็นโรคผิวหนัง หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับซูบผอมทรุดโทรม บ่อยครั้งที่ต้องย้าย “หลุมนอน” หรือหลุมดินที่ขุดลงไปพอซุกตัวนอนเพื่อให้เย็นลงบ้าง โดยเอาใบไม้หรือหญ้าแห้งคลุมไว้ เพราะเครื่องบินลาดตระเวนสามารถมองเห็นได้ง่ายมากขึ้นจากความโล่งแจ้งในท่ามกลางความแห้งแล้งที่หฤโหดนั้น

ในวันหนึ่งที่อัมพรเข้าเวรไปรับเสบียงและสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงจดหมายที่หมู่บ้านชายป่าข้างล่าง เขาก็ได้รับจดหมายว่าพ่อไม่สบายมาก ๆ เขาตัดสินใจหนีกลับบ้าน โดยบอกกับพวกที่มาด้วยว่าไม่สบาย ยังกลับขึ้นเขาไม่ไหวขอนอนอยู่ที่หมู่บ้านสักคืนหนึ่งก่อน และคืนนั้นเขาก็เดินเท้าจากหมู่บ้านที่พัก เดินลัดเลาะไปจนเช้าก็พบกับชาวบ้านอีกหมู่บ้านหนึ่ง เขาถามหาทางไปวัดที่อยู่ใกล้ ๆ เมื่อไปถึงก็พักอยู่ที่วัดนั้นหลายวัน จนมีญาติโยมมาทำบุญ เขาก็ได้ขออาศัยเดินทางเข้าเมือง เขาเล่าเรื่องที่เขาได้ผจญกรรม โดยเปลี่ยนจากเรื่องที่ถูกชักจูงให้เข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์ ว่าถูกหลอกลวงให้ไปทำงานในป่าจึงได้หนีออกมา ร่วมกับที่พ่อไม่สบายมากจะกลับไปเยี่ยมพ่อเป็นครั้งสุดท้าย ทำให้โยมผู้ใจบุญพาเขาไปส่งที่ท่ารถ บขส.พร้อมกับให้ค่ารถแก่เขาจำนวนหนึ่ง จนเขาสามารถกลับไปถึงบ้านได้ในที่สุด ซึ่งที่บ้านพ่อของเขาก็หายป่วยมาสักพักหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะดีใจมากที่ลูกชายกลับมาบ้าน แต่ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ทั้งจากพวกคอมมิวนิสต์ด้วยกันที่อาจจะตามมาลากตัวกลับคืน หรือจากเจ้าหน้าที่ที่อาจจะไล่ล่าจับกุม พ่อของเขาจึงให้อัมพรลงไปอยู่ทางภาคใต้ ไปอยู่กับญาติที่ไปรับจ้างกรีดยาง ซึ่งอัมพรก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่ายางนั้นกว่า 3 ปี กระทั่งรัฐบาลได้มีโครงการ “การุณยเทพ” ตามนโยบาย 66/2523 อภัยโทษให้กับคนที่เข้าป่า เขาก็ได้กลับมาบ้านและมอบตัวกับทางจังหวัด เขาช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ปีหนึ่ง แล้วก็เรียนต่อในมหาวิทยาลัยเปิดไปด้วย ก่อนที่จะมาหางานทำที่กรุงเทพฯ

งานแรกที่เขาทำคือเป็นเซลส์ขายปุ๋ย มีหน้าที่ติดรถไปส่งปุ๋ยของบริษัทไปยังลูกค้าในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมกับหาลูกค้าเพิ่ม ด้วยการลงแจกปุ๋ยฟรีกับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งก็ได้แก่เกษตรกรทั้งหลาย อัมพรต้องไปสาธิตการใช้ปุ๋ย การนำตัวอย่างพืชผักที่สมมุติว่าได้ใช้ปุ๋ยของบริษัทว่าจะเจริญงอกงามอย่างไรไปให้เกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ ดู บางทีก็ต้องเลี้ยงข้าวเลี้ยงปลากำนันและผู้ใหญ่บ้านที่จัดประชุมชาวบ้านให้ โดยเขามารู้ภายหลังว่าบริษัทนี้เป็นของนักการเมืองระดับชาติ ที่กำลังขยายฐานการเมืองไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยอาศัยการแจกปุ๋ยและสร้างสัมพันธ์กับเกษตรกร รวมถึงผูกมิตรกับบรรดาผู้นำชุมชน เพื่อให้เป็นหัวคะแนนในเวลาต่อไปนั้นด้วย เขาเร่ร่อนเป็นเซลส์ให้กับบริษัทนี้อยู่กว่า 5 ปี ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าสนุกกับงานนี้มาก จนถึงขั้นที่อยากเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งให้กับเจ้าของบริษัท และวางแผนที่จะเป็นนักการเมือง ซึ่งก็พอดีกับที่เขาจบการศึกษามีปริญญา น่าจะได้ช่วยเหลือบ้านเมืองตามอุดมการณ์ของเขาต่อไป

ในวันที่รับปริญญาเขาก็ได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่มารับปริญญาด้วยเช่นกัน ทั้งคู่ถูกชะตากันและติดต่อกันต่อมาจนเกิดความสนิทสนม ที่สุดก็แต่งงานกันในปีต่อมา คู่ชีวิตของเขาไม่อยากให้เขาเป็นนักการเมือง และไม่อยากให้เขาตะลอน ๆ ในการทำงานกับบริษัทขายปุ๋ยนั้นต่อไป เขาจึงไปสมัครงานที่บริษัททางด้านการเกษตรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ในหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ แต่งานจริง ๆ ก็คือการทวงหนี้กับลูกค้าของบริษัท ที่เกือบทั้งหมดเป็นชาวไร่ชาวนาหรือผู้มีฐานะยากจน แม้ว่าเขาจะได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาคือกฎหมายในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นโดยตรง แต่เขาก็รู้สึกอึดอัดที่ต้องไปทำร้ายคนที่เขาไปติดต่อทวงถามหนี้นั้น เพราะในฐานะที่พื้นฐานของเขาก็เป็นเกษตรกร รวมถึงในตอนที่ทำงานเป็นเซลล์ขายปุ๋ยก็ได้พบปะกับเกษตรกรผู้ทุกข์ยากนั้นมามากมาย เขาจึงขอย้ายไปทำงานในส่วนงานที่เรียกว่า “เกษตรพันธสัญญา” หรือ Contract Farming ซึ่งเพิ่งเปิดขึ้นใหม่ในตอนนั้น และเขารู้สึกชอบงานในส่วนนี้มาก เพราะมันเหมือนได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ส่วนหนึ่ง โดยการสร้างความยุติธรรมให้กับการเพาะปลูกและการขายผลผลิต แม้โดยรูปแบบจะดูเหมือนว่าตัวบริษัทจะได้เปรียบ แต่ความจริงนั้นลูกค้าซึ่งก็คือเกษตรกรก็ต้องได้รับหลักประกันต่าง ๆ พอสมควร ที่สร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา เพื่อให้อยู่ร่วมในโครงการได้เป็นปี ๆ ทั้งนี้ถ้าไม่มีเกษตรกรที่ซื่อสัตย์กับบริษัท ธุรกิจของบริษัทก็จะหยุดชะงักได้เช่นกัน ระบบธุรกิจแบบนี้จึงมีลักษณะที่อาศัยการพึ่งพิงกันและกันบนหลักความเชื่อถือและความยุติธรรมนั่นเอง

ที่บริษัทนี้เขายังได้เจอ “สหายพี่” ที่เคยอยู่ในป่าด้วยกัน เพียงแต่รุ่นพี่คนนี้เข้าป่าไปก่อนและออกมาภายหลัง เขามาทำงานที่บริษัทนี้ก่อนเขาสัก 2 ปี สหายพี่บอกว่าตอนที่เขากำลังจะมีการอภัยโทษ สหายพี่ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง ก็เลยหนีไปที่แม่สาย ข้ามไปฝั่งพม่า หาทางไปที่คุนหมิง ไปพบสหายคนจีนที่เขาได้พาไปที่ปักกิ่ง ได้เรียนหนังสือที่นั่นจนจบปริญญาโท ก็ได้รับการยืนยันจากเพื่อน ๆ ว่ามีการอภัยโทษให้จริง ๆ จึงได้กล้ากลับมา แล้วก็ได้พรรคพวกที่เป็นคนเดือนตุลาด้วยกัน พามาสมัครงานที่บริษัทนี้ ในกิจกรรมโครงการพิเศษที่จะมีการเชื่อมการค้าระหว่างไทยกับจีน ซึ่งสหายพี่ก็บอกว่า “อีกไม่นานอุดมการณ์ของเราก็จะบรรลุ”

อัมพรทำงานอยู่ที่นั่น 10 กว่าปี พอพ่อเขาตาย เขาก็ลาออกจากบริษัท และพาครอบครัวกลับมาอยู่ที่บ้านในชนบท เขาได้ทำเกษตรพันธสัญญากับบริษัทที่เขาเคยทำงานมาแล้วบนพื้นที่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเขาก็ทดลองทำไร่นาสวนผสม ตาม “ทฤษฎีใหม่” ของในหลวงภูมิพล เขาอ่านหนังสือ “ติโต” ที่พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์ ทำให้เขามองว่าพระองค์ท่านเป็นผู้ที่มี “อุดมการณ์ลึกซึ้ง” ทรงเข้าใจคนยากคนจน ทรงเข้าหาประชาชนของท่าน ท่านทรงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมหลายอย่าง ทรงให้ความเสมอภาคอย่างยุติธรรมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกภูมิภาค เขาคิดไปถึงขั้นที่ว่า “อุดมการณ์เพื่อประชาชน” ไม่จำเป็นต้องเป็นคอมมิวนิสต์ก็ทำได้ แต่เขาก็ยังเชื่อว่าแนวทางของคอมมิวนิสต์นั้นยัง “น่าฝันใฝ่” อยู่มิเสื่อมคลาย

ทุกวันนี้เมื่อเขามองไปที่ท้องฟ้าในยามใด ไม่ว่าท้องฟ้าจะเป็นสีใด เขาก็คงมองเห็นท้องฟ้านั้นเป็นสีทองเสมอ