แพทย์ เตือนคนไทยเร่งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หวั่นเป็นโรค NCDS มากขึ้น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ไตเรื้อรัง แนะนำ อายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกปี
วิถีชีวิตคนเมืองที่มีการใช้ชีวิตเร่งรีบ ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การกินยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases เพิ่มมากขึ้น
การอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซค์ ได้จัดให้มีการบรรยายวิชาการในหัวข้อ “โรคภัยใกล้ตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนไขมันในเลือดสูง” รศ.พญ.สว่างจิต สุรอมรกุล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า ทั้ง 3 โรคมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเป็นโรคดังกล่าวแล้ว ต้องพบแพทย์ กินยารักษาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอวัยวะที่สำคัญ เช่น ไต ตา เท้า ให้สามารถใช้งานได้เหมือนปกติ
ทั้งนี้ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนไขมันในเลือดสูงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDS เกิดจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงจนก่อให้เกิดโรค เช่น ดื่มเหล้า สูบบุรี่ กินอาหาร มัน เค็ม รสจัด ความเครียด และ ขาดออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น อ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้น ต้องควบคุมลดอัตราการเสียชีวิต ประชาชนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดโรคอ้วน อาหารที่มีน้ำตาลสูงทำให้เกิดโรคเบาหวาน อาหารที่มีไขมันสูงทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง และอาหารที่มีโซเดียมสูงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
ทั้ง 5 โรคเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 55 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึง การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อายุน้อยกว่า 45 ปี เป็นกรรมพันธุ์ หรือ มียีน ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้ง การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และ โรคมะเร็งปอด
โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจาก ตะกรัน หรือ ไขมันที่พอกหนาขึ้นบริเวณเส้นเลือดทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เมื่อเส้นเลือดตีบ มีโอกาสทำให้เส้นเลือดแตกได้ วิธีการรักษาคือ ฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ และ ทำบอลลูน ขยายเส้นเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้ หรือ การตัดต่อเส้นเลือด ขณะเดียวกัน ต้องมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่นควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ อาจจะเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ เช่น สโตรค มีอาการปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาแบบสโตรคฟาสแท็ค ภายใน 3 ชั่วโมง และ เลือดออกในสมองจากความดันโลหิตสูง ไตวายจากเบาหวาน และ เส้นเลือดที่เท้าอุดตัน เช่นปวดน่องเวลาเดิน เท้าเย็น เท้าซีด หรือ เปลี่ยนสี
วิถีชีวิตคนเมืองเป็นตัวแปรที่สำคัญ เช่นการกินอาหารจังก์ฟู้ดส์ ไม่ออกกำลังกาย ทำงาน และ สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การใช้ชีวิตมีความเสี่ยง ดังนั้น แนะนำอายุ 45 ปี ควรตรวจสุขภาพทุกปี
โรคอ้วน ประเทศไทย ผู้หญิงเป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้ชาย โดยกลุ่มประเทศเอเชียประเทศไทยอยู่ในอันดับสองของการเป็นโรคอ้วน ส่วนอันดับหนึ่งคือประเทศมาเลเซีย ดังนั้น ต้องมีการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย BMI ต้องไม่เกิน 25 ถ้าเกิน 30 เป็นโรคอ้วน มีอายุขัยลดลง 3 ปี การวัดเส้นรอบเอว หากเพศชาย มีขนาดเส้นรอบเอว เกิน 90 ซม หรือ 36 นิ้วขึ้นไป เพศหญิง 80 ซม หรือ 32 นิ้วขึ้นไป เป็นโรคอ้วน และเสี่ยงก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น เข่าเสื่อม กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และหยุดหายใจขณะนอนหลับ
โรคเบาหวาน โรคเรื้อรังที่มีน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากอินซูลินมีน้อยหรือไม่มี ขาดอินซูลิน หรือ ดื้ออินซูลิน การเกิดโรคเบาหวานในบริบทเขตเมือง เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดเป็นโรคเบาหวาน คือ ผู้หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด เด็กอายุน้อย ขาดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนโดนทำลายทำให้ต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต คนอ้วนที่เกิดจากพันธุกรรมและพฤติกรรม ผู้สูงอายุที่มีอายุขัยยาวนาน การตรวจพบโรคเบาหวาน การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
ความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน อายุมากกว่า 35 ปี โรคอ้วน ประวัติครอบครัว เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สูบบุรี่ ทั้งนี้ อาการของโรคเบาหวาน คือ หิวเก่ง ปากแห้ง คอแห้ง หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะทั้งกลางวันกลางคืนทุก ๆ 1 ชั่วโมง น้ำหนักลง อ่อนเพลียไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน ติดเชื้อซ้ำที่ผิวหนัง เหงือกและฟัน และกระเพาะ ตามัว และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคเบาหวานป้องกันได้ ด้วยการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แนะนำตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง
ดังนั้น ต้องควบคุมอาหาร ควรแบ่งอาหารเป็น 4 ส่วน ข้าว โปรตีน เน้นผัก 2 ส่วน กินอาหารให้พอเหมาะ ควบคุมน้ำหนักตัว ลดการกิน ลดแคลอรี ใช้พลังงานให้เยอะ เบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้ โดยใช้วิธีการลดน้ำหนักลงได้ 15%
โรคความดันโลหิตสูง ที่ดูจากตัวเลขโดยใช้วิธีวัดความดัน เกณฑ์วัดความดันค่าปกติควรอยู่ที่ 120/80 หากเกินกว่านี้ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ลดน้ำหนัก เน้นกินผัก ผลไม้ กินเกลือโซเดียมให้น้อยลง ไม่ควรเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน ออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิค 3-5 วันต่อสัปดาห์ งด หรือ ลดการดื่มแอลกอฮอล์
โรคไขมันในเลือดสูง ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากแอพพลิเคชั่น Thai CV Risk Score ภายในระยะเวลา 10 ปี หากพบว่า มีความเสี่ยงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกบริโภคอาหารชนิดดี ควบคุมอาหารลดอาหารที่มีไขมัน ลดน้ำหนัก และ ออกกำลังกาย เช่น การเดิน การเต้นแอโรบิค และกินยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ซื้อยากินเอง สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง
พลอากาศโทนายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ บรรยายหัวข้อ “โรคที่เกี่ยวกับไตเครื่องกรองของร่างกาย” ว่า ไตทำหน้าที่กำจัดของเสียทางปัสสาวะ รักษาสมดุลของน้ำ รักษาสมดุลของเกลือแร่ สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
โรคไต แบ่งได้ 6 ประเภท ไตอักเสบ ถุงน้ำในไต กรวยไตอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน นิ่วในไต และไตเรื้อรัง
โรคไตอักเสบ อาการที่พบ บวม ปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะมีสีแดง หรือ ปัสสาวะเป็นฟองเกิดจากไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ มีความดันโลหิตสูง เกินกว่า 140/90 ซึ่งค่าความดันปกติ ควรอยู่ที่ 120/80 โรคร่วม เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( SLE ) โรคคออักเสบ
โรคกรวยไตอักเสบ เป็นส่วนของไตที่ต่อเนื่องกับทางเดินปัสสาวะ มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาการที่พบ ปวดหลัง ไข้หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะแสบขัด มีเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ พบมากในผู้หญิงกลั้นปัสสาวะ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาไม่เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
โรคนิ่วในไต อาการที่พบ ปวดหลัง ปัสสาวะสีแดง คล้ายเลือด ถ้าเอ็กซเรย์จะพบลักษณะคล้ายนิ่ว จะพบในคนทางภาคเหนือ และ อิสาน พบได้ในคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำ ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตร
โรคถุงน้ำในไต สาเหตุที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง อาการที่พบท้องโต และถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
โรคไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผ่าตัด ติดเชื้อรุนแรง กินยาต่อเนื่องนานๆ เช่นยาแก้ปวด ยาที่มีสเตียรอยล์ อาการปัสสาวะลดลง ซึมไม่รู้ตัว ของเสียในร่างกายสูงขึ้น บวมน้ำ เกลือแร่ผิดปกติ เป็นแล้วรักษาหายได้
โรคไตเรื้อรัง เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ไตผิดปกติ หรือมีอัตราการกรองไตน้อยกว่า 60 มล.ต่อนาที 1.73 ตารางเมตร เกินกว่า 3 เดือนขึ้นไปเป็นโรคไตเรื้อรัง อาการที่พบ บวม ซีด เหนื่อยอ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง เบื่ออาหาร แต่ผู้ป่วยไตเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่มีอาการจนกว่าการทำงานของไตจะเสียไปอย่างมาก
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง อายุที่เกิน 60 ปีขึ้นไปต้องมีการตรวจการทำงานของไต ด้วยการตรวจเลือด และ ตรวจปัสสาวะ การใช้ยาและสมุนไพรที่มีพิษกับไต กรดยูริคสูงหรือเก๊าท์ นิ่วและการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ประวัติคนในครอบครัว จากข้อมูลสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทย 100 คน เป็นโรคไตเรื้อรัง 17 คน คนไทยประมาณ 50 ล้านคน เป็นโรคไตเรื้อรัง 7 ล้านคน ส่วนใหญ่คนที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง มีอาการระยะสุดท้าย
ทั้งนี้ โรคไตเรื้อรัง พบกับ คนกรุงเทพมากที่สุด รองลงมา คือ ภาคอิสาน ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ คนส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจ ไม่เคยตระหนักหรือให้ความสำคัญการตรวจไต จะให้ความสำคญ เมื่อป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย ต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการวิธีบำบัดทดแทนไต โดย ใช้วิธีการรักษาแบบฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สัปดาห์ 2-3 ครั้ง ประมาณ 4-5 ชั่วโมง วิธีการล้างไตทางช่องท้อง ทำด้วยตัวเองวันละ 4 ครั้ง และ วิธีการปลูกถ่ายไต หรือ การเปลี่ยนไต ไม่ได้เอาไตเดิมออก แต่เอาไตจากคนบริจาคมาใส่ผู้ป่วย แต่ผู้ที่บริจาคจะต้องมีเชื้อสายใกล้เคียงกับผู้ป่วยเพื่อให้ไตทำงาน จำนวนผู้ป่วยล้างไตสะสมในปี 2551 – 2563 มีมากกว่ากว่า 2 แสนราย ทั้ง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิการรักษาได้ คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ 12,000 – 15,000 บาทต่อเดือนต่อคน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยเป็นโรคไต อยู่ที่อันดับ 5-6 โดยอันดับหนึ่ง คือ ไต้หวัน รองลงมาก คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา เกาหลี สำหรับวิธีการดูแลไต เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมระดับความดันโลหิต เลือกกินอาหารและคุมน้ำหนัก ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และ คัดกรองโรคไตในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง.