เครือข่ายประชาชนชุมนุม กดดัน คณะกรรมการป.ป.ส. คัดค้านพิจารณานำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ลั่นหากดึงดัน จะสู้จนกว่าจะชนะ “ปานเทพ” ปลุกประชาชน ไม่เลือกนักการเมือง คว่ำ พ.ร.บ.กัญชา เข้าสภา 

วันที่ 22 พ.ย.65 เครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย นำโดย นายประสิทธิชัย หนูนวล ,นายอัครเดช ฉากจินดา ได้ยื่นหนังสือต่อพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยขอให้ทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา ไม่ใช่คว่ำทิ้งทั้งฉบับ เพราะจะเป็นการเดินถอยหลังในทุกมิติ มีแต่การสร้างกฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในกัญชาจึงจะก้าวหน้า อย่าได้กลัวว่าประชาชนจะพิจารณาไม่ได้ว่าจะใช้พืชต้นหนึ่งให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ความสามารถของประชาชนมากกว่านั้น ทุกพรรคต้องยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การผลักไปสู่ยาเสพติด เท่ากับผลักอำนาจการออกกติกากัญชาไปสู่มือผู้ถืออำนาจรัฐ พ.ร.บ. กัญชาต่างหากที่เป็นหลักประกันสิทธิของประชาชน โดยหวังว่าทุกพรรคการเมืองจะกลับตัวทัน 

จากนั้น เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย จากทั่วประเทศ นัดชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยทางเครือข่ายฯ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขอให้ผลักดัน พ.ร.บ.กัญชาเป็นกฎหมายบังคับใช้ จากนั้น นายประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีข้อความระบุว่า ตามที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาในฐานะพืชสมุนไพรมาโดยลำดับนั้น บัดนี้ถึงขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เกิดการจัดการและควบคุมเชิงระบบสำหรับพืชกัญชา เพื่อเป็นหลักประกันต่อสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงพืชกัญชาในฐานะความมั่นคงทางยาของครัวเรือนและของประเทศชาติโดยรวม เครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย จึงมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 2 ประการดังนี้ 

1.ขอให้แนวนโยบายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจะต้องไม่นำกัญชาไปสู่การเป็นยาเสพติดโดยเฉพาะการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือ ปปส. เพราะการนำกัญชาไปสู่ยาเสพติดเท่ากับเป็นการตัดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกัญชาและยังนำไปสู่การสร้างกติกาใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มเข้าถึงและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาได้ในขณะที่ประชาชนจะถูกกีดกัน ฉะนั้นหากรัฐบาลคำนึงถึงประชาชนจะต้องไม่นำพืชกัญชากลับไปสู่ยาเสพติดอีก  

2.เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงพืชกัญชาเพื่อความมั่นคงทางยารัฐบาลจะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อใช้สำหรับควบคุมกัญชาเชิงระบบ เพราะกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจะระบุหลักการของการปฏิบัติต่อกัญชาในประเทศนี้เอาไว้ ข้อปฏิบัติใดที่จะเกิดขึ้นกับกัญชาจะต้องอยู่ภายใต้หลักการในพระราชบัญญัติ บัดนี้กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำกฎหมายเสร็จสิ้นแล้วควรที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาบังคับใช้ ฉะนั้นรัฐบาลในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศจะต้องตระหนักว่าการไม่มีกฎหมายมาควบคุมกัญชาเชิงระบบเป็นความผิดพลาดร้ายแรงของการบริหารประเทศ เพราะจะก่อปัญหาหลายประการตามมา รัฐบาลจึงต้องดำเนินการเพื่อให้สภาบังคับใช้ พ.ร.บ.กัญชาที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

“จึงขอให้ท่านพิจารณาว่าความมั่นคงทางยาจากพืชกัญชาจะสามารถทำให้สังคมไทยมีความพร้อมพอต่อการรับมือวิกฤติใดในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเลวร้ายมากขึ้นทุกที ภารกิจของการผลักดันกัญชาจึงมิใช่การแย่งชิงทางการเมืองแต่เป็นการสร้างความมั่นคงทางยาแก่ประเทศชาติ” นายประสิทธิชัย กล่าว และว่า หาก ยังมีการดึงดันที่จะผลักดันให้กัญชาเป็นยาเสพติด พวกเราก็จะสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ เพราะถือว่าท่านไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน 

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … กล่าวว่า ขอยืนยันว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีคนบางกลุ่มพยายามที่จะเอาเข้าที่ประชุม คณะกรรมการ ปปส. เพื่อให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทำให้ ประชาชนหวาดวิตก แต่ในที่สุด พลังประชาชนที่ได้หล่อหลอมรวมกันในเวลาเพียงไม่กี่วัน จึงเป็นผลสัมฤทธิ์ ให้วันนี้ คณะกรรมการ ปปส.เปลี่ยนวาระเพื่อพิจารณา เหลือเพียงวาระเพื่อทราบ แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทต้องรอดูกันต่อไป 

“การมาที่นี่เพื่อเรียกร้องไม่ให้กัญชาเป็นยาเสพติด แสดงถึงเจตนารมณ์แน่วแน่ว่าจะยึดกัญชาเป็นสมุนไพรของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน และสิ่งที่ต้องรู้เท่าทัน คือ มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้กัญชา เป็นสิ่งที่ไม่มีกฎหมายมาควบคุม สิ่งนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง พวกคนเหล่านี้หวังดีแต่ประสงค์ร้ายต่อกัญชา ด้วยการอ้างว่า ห่วง เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ถามว่าถ้าห่วงเยาวชน ทำไมไม่ออกกฎหมายมาควบคุม ถ้าเห็นด้วยกับการควบคุม ท่านจะต้องยกมือแก้ไขในสภาฯ รายมาตราไม่ใช่คว่ำกฎหมายทิ้ง ทั้งฉบับ เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ พรรคการเมืองใด นักการเมืองคนใด ที่ทำแบบนั้น ประชาชนจะสั่งสอนท่านเองในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ครับ” นายปานเทพ กล่าว 

ด้าน พ.ต.ท.หญิง ธิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ พยาบาลนักกฎหมาย ในฐานะสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์กัญชาในประเทศไทย ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม ประกอบกับความขัดแย้งในทางการเมืองส่งผลให้เกิดความสับสนแก่สังคม เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องของกฎหมายและการบังคับใช้ จนเกิดเหตุการณ์การยื่นฟ้องศาลปกครองของพรรคการเมืองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ถอดกัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังเดิม

ในฐานะกลุ่มตัวแทนของภาคประชาชนที่ทำงานผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายกัญชาในประเทศไทยมามากกว่า 10 ปี หากวันนี้กัญชาต้องกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้ง จะส่งผลให้ประชาชนมากมายที่จะถูกดำเนินคดีทางอาญา ทั้งในฐานะผู้เสพ ผู้ค้า ผู้ผลิต ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจที่อยากจะทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดการพัฒนา อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายกฎกติกาของสังคม ต้องติดร่างแหนี้ไปด้วย และจะส่งผลให้ทุกอย่างกลับลงไปสู่ระบบใต้ดินไม่มีความสามารถในการควบคุมใด ๆ และสุดท้ายปัญหาเหล่านี้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบที่รุนแรงเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด 

จากนั้นเครื่อข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป