เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
โดยนายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นบางพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่ง สธ.ได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้อย่างเพียงพอเพื่อรองรับการระบาดที่กำลังเพิ่มขึ้น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศมีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังให้มีความพร้อมทุกจังหวัดแล้ว ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งหนังสือชื่นชมประเทศไทยต่อการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
“ ที่ประชุมในวันนี้ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปี 2566 โดยมีกรอบในการจัดหาและบริหารจัดการให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและ อสม. รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน โดยให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด 19 ในปี 2566 อย่างเหมาะสม รวมถึงยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด 19 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ภายหลังการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อสนับสนุนภารกิจวัคซีนโควิด 19 ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษา และอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน”
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการรองรับแล้ว ส่วนผลการดำเนินงานด้านวัคซีนโควิด 19 ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 143.7 ล้านโดสรับอย่างน้อย 1 เข็ม 57.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82.4 รับครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 77.5 และรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วกว่า 32.4 ล้านโดส ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 รวม 17,745 คน