จ.มหาสารคาม ตั้งอยู่กึ่งกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีหลายชนเผ่า ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าไทยพื้นเมืองอีสาน พูดภาษาถิ่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นชนเผ่าไทญ้อ และชนเผ่าผู้ไท ซึ่งมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ด้านภาษาที่แตกต่าง ฟังไพเราะ มีประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานสืบทอดปฏิบัติกันมา เทศกาลออกพรรษา ซึ่งทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ ถึงแรม 1ค่ำ เดือน 11 ตามแม่น้ำลำคลอง จังหวัดที่มีการไหลเรือไฟในปัจจุบัน คือ นครพนม ศรีษะเกษ สกลนคร นครพนม มหาสารคาม หนองคาย เลย และ อุบลราชธานี ซึ่ง จ.มหาสารคาม ได้มีการประเพณีไหลเรือไฟ ไทญ้อ ขึ้นประจำทุกปี “เรือไฟ” หรือภาษาถิ่นเรียกว่า “เฮือไฟ” เป็นเรือที่ทำด้วยต้นกล้วย ท่อนกล้วย หรือไม้ไผ่ ต่อเป็นเรือลำยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มมัดหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ซึ่งเรียกว่า “การไหลเรือไฟ” หรือปล่อยเฮือไฟ การไหลเรือไฟ นั้นมีคตินิยมเช่นเดียวกับการลอยกระทง แต่เป็นการลอยกระทงก่อนที่อื่น 1เดือน โดยมีความเชื่อกันว่า เกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนันทนามหานที หรือความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย การบูชาพระแม่คงคา และการบูชาพญานาค นางอัจรินทร์ เมืองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ชาวญ้อ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหงสาตอนเหนือของลาว ติดกับประเทศจีนต่อมา ในปี 2351 อพยพลงมาจากทางใต้ ตามลุ่มแม่น้ำโขง และเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองจันทร์ บริเวณหาดดอนทราย หลังจากนั้นเจ้าอนุวงศ์ให้ชาวญ้อเข้ามาอยู่ในฝังขวาแม่น้ำโขงตั้งหลักปักฐานที่เมืองไทยบุรีปากแม่น้ำสงครามแต่ยังขึ้นตรงต่อเจ้าอนุวงศ์ ต่อมาในปี 2369 ตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3 ) เจ้าอนุวงศ์ปราบกบฏต่อการปกครองสยาม จึงนำชาวญ้อเมืองไชยบุรีมายังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงโปรดให้ตั้งเมืองใหม่ 3 เมือง คือ เมืองปุลิง เมืองคำเกิด และเมืองคำม่วน โดยแต่งตั้งให้ท้าวหม้อเป็นผู้นำโดยตรงขึ้นกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์ ชาวญ้อซึ่งอพยพมากระจัดกระจายกันตั้งถิ่นฐานอยู่ใน จ.มหาสารคาม หลายหมู่บ้าน เช่น บ้านดอนยม บ้านดอนเวียงจันทร์ บ้านดอนนา โดยมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ชาวญ้อในพื้นที่ท่าขอนยาง อาศัยอยู่บริเวณท่าน้ำติดน้ำชี มีพื้นที่ราบลุ่ม ดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรกรรม ด้วยวิสัยทัศน์ของท้าวคำก้อน ผู้นำชาวบ้านเลือกตั้งบ้านแปลงเมืองที่จะทำให้เป็นบ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ ให้ลูกหลานได้อยู่ดีกินดี มีความสุข ใช้หลักการมีน้ำ มีป่า บ้านเมืองได้องค์ประกอบสามอย่างนี้เจริญรุ่งเรื่องจนถึงปัจจุบัน ด้าน นายสมชาติ บุตราช นายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย กล่าวว่า ภายในเขตเทศบาลตำบลท่าขอนยางมีชุมชนชาวไทญ้อ ซึ่งเป็นชาวญ้อที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในพื้นที่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบัน คือบ้านท่าขอนยาง ชาวไทญ้อได้มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ เทศกาลประเพณีไหลเรือไฟ ในวันออกพรรษา “เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของชาวไทญ้อ เทศบาลตำบลท่าขอนยาง ได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวและกีฬา จ.มหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และชุมชน จัดงานประเพณีไหลหุ่นเรือไฟวันออกพรรษาท่าขอนยาง ระหว่างวันที่ 14-16ตุลาคม 2559 บริเวณท่าน้ำวัดเจริญผล ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนมธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ประชานให้เยาวชนรุ่นหลังได้รับรู้และรับทราบถึงเรื่องราวของชาวไทญ้อที่กำลังจะสูญหายไปกับการพัฒนาสู่ยุคสมัยใหม่” นายสมชาติ กล่าว เอนก กระแจ่ม , สุรเชฐ สัจจลักษณ์ / มหาสารคาม