วันที่ 21 พ.ย.65 ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ได้เปิดเผยเนื้อหาเรียกร้องให้มีการชำระหนี้กว่า 40,000 ล้านบาทว่า เรื่องนี้มีประเด็นเดียวคือ กทม.ทำสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(KT) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(KT) ไปทำสัญญากับ บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(BTSC) ในการเดินรถ ซึ่งในข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ระบุชัดเจนว่า การที่ กทม.สร้างหนี้ที่ผูกพันกับงบประมาณต้องผ่านการพิจารณาจากสภา กทม.ก่อน ดังนั้น การทำส่วนต่อขยายที่ 2 ยังไม่มีความชัดเจนว่าผ่านสภา กทม.หรือไม่ ซึ่งขบวนการดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร รวมถึงความชัดเจนด้านการจ่ายค่าซื้อขบวนรถ ดังนั้น ขั้นตอนที่ผ่านมายังผิดหลักในการดำเนินการของ กทม.

ขณะนี้ กำลังทำหนังสือถามไปยังเลขานุการสภากทม.ว่า เรื่องส่วนต่อขยายที่ 2 เคยผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.หรือไม่ เพราะเป็นหนี้ผูกพัน ถ้ายังไม่ผ่านอาจต้องทำสัญญาใหม่ และต้องรอให้ ครม.ยุติการพิจารณาเรื่องสัญญาให้เรียบร้อย เพราะเป็นมูลหนี้ในการพิจารณาต่อสัมปทานให้ ปัญหาตอนนี้ คือ มีบางขั้นตอนในขบวนการขาดหายไป ซึ่ง กทม. ไม่มีปัญหาเรื่องชำระหนี้ แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านขบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง

ขณะเดียวกัน การรับทรัพย์สินที่โอนมาจากกระทรวงคมนาคม มี 2 มิติที่ต้องพิจารณา คือ 1.การก่อหนี้ผูกพัน เพราะการรับทรัพย์สินเท่ากับการรับหนี้ซึ่งต้องจ่ายตามภาระผูกพัน ดังนั้น หากดูข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่า การรับหนี้ใดๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.เพราะการรับโครงสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 มา คือการรับมูลหนี้ผูกพันในอนาคต ซึ่งต้องใช้งบประมาณ กทม.ในการจ่าย 2.อาจมีมิติในการเห็นชอบจากสภา กทม.ในทางอ้อม ซึ่งต้องรอให้เลขานุการสภากทม.ตอบว่า กรณีส่วนต่อขยายที่ 2 ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.หรือไม่ หากยัง ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นการทำสัญญาใหม่ให้ชัดเจนต่อเนื่องในอนาคต