การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด อ.แม่สอด จ.ตาก ของนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วย นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 15, 16 และ 17 เร็ว ๆ นี้ ไม่เพียงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงสีข้าวของสหกรณ์ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวใน อ.แม่สอดเท่านั้น ยังเป็นประธานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) และหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ให้กับเกษตรกรสมาชิกที่อาศัยอยู่ในนิคมสหกรณ์แม่สอดอีกด้วย เปรียบยิงนัดเดียวได้นกสองตัวได้ทั้งโรงสีและที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เนื่องจากในพื้นที่ อ.แม่สอดยังไม่มีโรงสีข้าวเอกชนให้บริการ ทำให้โรงสีข้าวของสหกรณ์นิคมแม่สอด จึงเป็นแห่งเดียวที่ให้บริการสีข้าว แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป
ปัจจุบันสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด มีสมาชิก จำนวน 2,541 ครอบครัว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพด ถั่วเขียว และนาข้าว โดยเฉพาะนาข้าวที่มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากถึง 5,000 ไร่ ซึ่งสหกรณ์ได้ส่งเสริมการผลิตเพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี มีการจัดหาปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ดี เงินทุน และพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสมาชิก มีการทำการเพาะปลูกแบบพันธะสัญญา และทำการรวบรวมผลผลิต จึงทำให้สมาชิกมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งสหกรณ์ยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการช่วยเหลือพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ตกต่ำ เช่น โครงการชะลอการขายข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งในแต่ละปีสหกรณ์ได้ดำเนินการรวบรวมข้าวเปลือกของสมาชิกมีปริมาณค่อนข้างสูง ปีละ 1,000 - 2,000 ตัน ส่วนหนึ่งได้ทำเมล็ดพันธุ์จำหน่าย และอีกส่วนหนึ่งรอราคาขายให้กับโรงสี ในขณะเดียวกันตามมติที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด โดยได้จัดสรรงบประมาณของสหกรณ์กว่า 1.96 ล้านบาท ทำการก่อสร้างโรงสีข้าว ขนาด 10 ตัน/วัน เพื่อแปรรูปข้าวสาร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดปัญหาการขาดทุนหากสหกรณ์จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม่หมดหรือราคาข้าวตกต่ำ ทั้งนี้ ในอำเภอแม่สอดมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 48,000 ไร่ แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 22,000 ไร่ ข้าวเหนียว 8,000 ไร่ ข้าวไร่ 18,000 ไร่
“การที่สหกรณ์นิคมแม่สอดสร้างโรงสีขนาดเล็กกำลังการผลิตประมาณ 10 ตันต่อวัน เมื่อเราสร้างโรงสีขึ้นมาแล้ว คิดง่าย ๆ ในหนึ่งปีตีเสียว่า 300 วัน เราจะมีข้าวเข้ามา 3,000 ตัน แปลงเป็นข้าวสารประมาณ 50% เราได้ข้าวสารที่ 1,500 ตันต่อปี ผมเชื่อว่าแค่สมาชิกของสหกรณ์แม่สอดซึ่งมี 2,500 ครอบครัวปีหนึ่งก็ไม่พอขาย ดังนั้นเรามีโรงสี เรามีนา เรามีผลผลิตของสมาชิกในพื้นที่ของเรา เรามีเมล็ดพันธุ์ที่สหกรณ์ส่งเสริมให้ปลูก เมื่อปลูกแล้วเอาข้าวมาขายที่สหกรณ์ ปีนี้ข้าวราคาค่อนข้างดี สหกรณ์ก็ทำเป็นถุงขายสมาชิก สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นก็คือการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของสมาชิก โดยที่สมาชิกมาอุดหนุนข้าวของสหกรณ์และเชื่อว่า ร้านค้าต่าง ๆ คนงานไทยพม่าในตัวแม่สอดก็ต้องการข้าวจากเราเช่นกัน” บางช่วงบางตอนที่นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวถึงผลประโยชน์จากโรงสีที่มีต่อสมาชิกสหกรณ์ฯระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด
ไม่เพียงโรงสีข้าวเท่านั้นที่สมาชิกได้รับประโยชน์ แต่ยังมีเกษตรกรสมาชิกที่อาศัยพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่สอดประกอบอาชีพมาเป็นเวลานานได้รับเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของนิคมสหกรณ์ฯ อีกด้วย โดยในครั้งนี้มีเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่สอด จก. ได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) จากอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 6 ราย รวมเนื้อที่ 67 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา และหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) อีกจำนวน 9 ราย เนื้อที่รวม 64 ไร่ 3 งาน (เฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด) ซึ่งเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวสามารถนำมาออกเป็นโฉนดได้ในอนาคต
“วันนี้ผมมามอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กสน.3 และกสน.5 ให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมแม่สอด ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ ทำกินในพื้นที่ของนิคมสหกรณ์มาเป็นระยะเวลานาน จนได้รับสิทธิจะได้เอกสาร หลังจากนี้ถ้ายังมีการทำกินในพื้นที่ ก็จะออกโฉนดและมีสิทธิ์ในที่ดินทำกินอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่พี่น้องในประเทศไทยหลาย ๆ พื้นที่เรียกร้อง กันมาก ที่สำคัญที่ดินเหล่านี้จะต้องใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น”
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ยอมรับว่าจากนี้ไปความเจริญของตัวอำเภอแม่สอดเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ที่ดินนับวันจะกลายเป็นพื้นที่เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่ดินในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์ฯ ตราบใดยังไม่ออกกฤษฎีกาหรือออกกฎระเบียบเลิกนิคมฯ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่นิคมฯ จะใช้เพื่อการเกษตรกรเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ยกเว้นกิจกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับการเกษตร อาทิ โรงสี ลานมัน ลานตาก เป็นต้น แต่หากกิจกรรมเหล่านี้เป็นของคนอื่น หรือขายให้กับคนนอกไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์นิคมฯ จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เท่านั้นในการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรม
“ตราบใดที่ดินยังอยู่ในนิคมสหกรณ์ฯ จะเอาไปอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เช่นจะเอาไปทำโรงเรียนก็ต้องขออนุญาตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อนเช่นกัน แต่ถ้าทำการเกษตรก็สามารถทำได้ อันนี้คือความพิเศษที่รัฐบาลเขาดูแลพื้นที่ว่าที่ดินต้องเป็นของเกษตรกรและทำการเกษตรกรเท่านั้น” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กล่าวและย้ำว่าการใช้พื้นที่ของนิคมสหกรณ์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการส่งเสริมอาชีพเกษตรให้มีความหลากหลายจะได้เกิดความมั่นคงในพื้นที่นิคมแต่ละแห่ง ซึ่งแนวคิดนี้ตนอยากให้ขยายผลไปสู่นิคมสหกรณ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนิคมฯ ลำปาง นิคมสหกรณ์ที่เชียงใหม่ นิคมสหกรณ์ในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารและมีความหลากหลายในการปลูกพืชและการใช้ที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ฯ เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อพี่น้องเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์นิคมเหล่านี้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอาชีพที่มั่นคงอีกด้วย