วันที่ 20 พ.ย.65 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจ Center for Medical Genomics ระบุข้อความว่า  ... 

การใช้อาการมาช่วยระบุสายพันธุ์ของโควิด-19 (variant-specific symptom)

ศึกษาจากประชากรผู้ใหญ่ (18+) ในประเทศอังกฤษ จำนวน 1.5 ล้านคน ที่ติดเชื้อโควิด-19 พบอาการทางคลินิกที่จำเพาะของโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์

ปัจจุบันการตรวจสอบไวรัสโคโรนา 2019 ทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญแต่มีค่าใช้จ่ายสูงในเกือบทุกประเทศถูกปรับลดจำนวนการตรวจลงอย่างมากเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ อีกทั้งมีการตรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย ATK ที่มีราคาย่อมเยาและสามารถตรวจได้ด้วยตนเองมาทดแทนมากขึ้น

อย่างไรก็ดีการตรวจต้นทุนสูงเช่น “PCR” และ “การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019” ยังมีความสำคัญเพื่อใช้ติดตามการกลายพันธุ์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของบรรดาไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นมาแทนที่สายพันธุ์เดิมที่ลดจำนวนลงเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติใหม่กับอาการทางคลินิกที่เปลี่ยนไป

ดังนั้นหากสามารถใช้อาการที่จำเพาะมาช่วยระบุถึงสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 (variant-specific symptom) เบื้องต้นได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคตเพื่อเสริมการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิด-19 ในยุคที่มีการลดจำนวนการตรวจ PCR และลดการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมลง

มีงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ “Nature” ในวันที่ 11 พ.ย. 2565 (https://www.nature.com/articles/s41467-022-34244-2) โดยนำข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่ประชากรผู้ใหญ่ในประเทศอังกฤษจำนวน 1,542,510 คนในช่วงเกือบ 2 ปี (1 พฤษภาคม 2563 ถึง 31 มีนาคม 2565) ของการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบความแตกต่างของอาการจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น อัลฟา เดลตา โอมิครอน BA.1 และ BA.2 อันเนื่องมาจากภูมิหลังของผู้ติดเชื้อที่แตกต่างกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและการได้รับฉีดวัคซีน

โดยพบว่า “ความเกี่ยวข้อง (association)” ของโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ที่เกี่ยวข้องกับสูญเสียหรือการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น รสชาติ รวมถึงการเบื่ออาหาร ลดลง ต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 ดั้งเดิม อู่ฮั่น, อัลฟา, และ เดลตาที่มีความสัมพันธ์กับอาการสูญเสียหรือการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น รสชาติ และการเบื่ออาหาร อย่างชัดเจน

โอมิครอน BA.1 และ BA.2 มีอาการที่ไม่รุนแรงคล้ายหวัดและไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือมีอาการ ปวดหัว, น้ำมูกไหล, จาม, คัดจมูก, เสียงแหบ, และ เจ็บคอ อันเป็นอาการของการติดเชื้อไวรัสใน “ระบบทางเดินหายใจส่วนบน” ที่เด่นชัดมากกว่า ไวรัสโคโรนา 2019 ดั้งเดิม อู่ฮั่น อัลฟา เดลตา ซึ่งจะมีอาการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าเพราะมีการติดเชื้อ “ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง” เช่น ปอด

(ภาพ)

การติดเชื้อโอมิครอน BA.2 แม้มีอาการไม่รุนแรงแต่กลับพบอาการมากขึ้นทำให้มีการหยุดชะงักหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมประจำวันมากกว่าเมื่อเทียบกับโอมิครอน BA.1 (ภาพ)

ส่วนการสูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรสจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ ดั้งเดิม อู่ฮั่น, อัลฟา, แล เดลตา มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าแม้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะติดต่อเข้าสู่เซลล์ในร่างกายน้อยกว่า 1% ก็ตาม แต่เป็นไปได้ว่าลำดับพันธุกรรมของไวรัสสามารถเข้าไปควบคุมการแสดงออกของยีนตัวรับกลิ่น (olfactory receptors) -ของโฮสต์เซลล์ (ของผู้ติดเชื้อ) แม้เซลล์นั้นจะไม่ติดเชื้อก็ตาม ทำให้การรับรู้กลิ่นหรือรสทั้งระบบลดลงหรือสูญเสียไปชั่วขณะ

ดังนั้นการศึกษาการแสดงออกของยีนมนุษย์ในระดับการสร้างอาร์เอ็นเอ (ทรานสคริปโตมิกส์) และการสร้างโปรตีน (โปรติโอมิกส์) อย่างละเอียดหลังการติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าจะช่วยให้ทราบถึงกลไกในระดับเซลล์มนุษย์ที่มีความสำคัญในการเกี่ยวข้องกับอาการความรุนแรงของโรคโควิด-19 เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ในอนาคต

นอกจากนี้การที่มีไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และความสามารถที่เราสามารถระบุตัวบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อ (super spreader) เบื้องต้นจากลักษณะอาการได้จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

 

 

ขอบคุณ เพจ Center for Medical Genomics