การเมืองหลังการประชุมเอเปค 2022 ผ่านพ้นไป มีเรื่องใหญ่ที่น่าจับตาและเป็นสมการแปรผันกันอย่างมีนัยสำคัญ

หนึ่ง คือ ความชัดเจนต่ออนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐหรือแยกกันเดิน ไปกับพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ

อีกหนึ่ง คือ ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยปมกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่  ซึ่งจะส่งผลต่อสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ว่าจะได้ไปต่อ หรือต้องย้อนกลับไปใช้สูตรหารด้วย 500

โดยเฉพาะหากศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องย้อนกลับไปใช้สูตรหาร 500 ที่จะส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง

สถานการณ์จะพลิกกลับไปเหมือนกระดานหก ที่พรรคการเมืองขนาดเล็กจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคขนาดใหญ่อาจไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เหมือนกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมาทันที!

หากย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์สภาล่มในการพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 ทั้งที่ครบกำหนด 180 วันทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไป และกลับไปใช้สูตร หาร 100 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอมา

ขณะนั้น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ถึงกับโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กว่านักเล่นเกมที่หัวหน้าทีมให้ลูกทีมไปลงชื่อ แล้วไม่ต้องลงสนาม เปลี่ยนข้างมายิงประตูตัวเอง ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ปฏิเสธ “ ไม่รู้ ไม่รู้” โดยที่พรรคพลังประชารัฐมีส่วนทำให้สภาล่ม

ทั้งที่สูตรหาร 100 ถูกมองว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ และเข้าใกล้เป้าหมายแลนด์สไลด์  250 เสียงตามแคมเปญที่พรรคเพื่อไทยรณรงค์มาตลอด

ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับ” ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ที่จะจับมือกันหลังการเลือกตั้ง โดยผลักดันให้ “บิ๊กป้อม”เป็นนายกฯ

และเมื่อ “บิ๊กตู่”ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญระหว่างการพิจารณาปมดำรงตำแหน่ง ครบวาระ 8 ปี  “บิ๊กป้อม” ต้องปฏิบัติหน้าที่แทนก็ทำให้เกิดกระแสผลักดัน  “บิ๊กป้อม”เป็นนายกฯคนนอก

กระทั่ง “บิ๊กตู่”พ้นบ่วงของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังถูกจำกัดกรอบระยะเวลาต่อวีซ่าในเก้าอี้นายกฯได้อีกเพียง 2 ปี  กระแสการเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม”ให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็กลับมาร้อนแรงยิ่งขึ้น  ด้วยการเสนอสูตร “หมดลุงตู่ สู่ลุงป้อม” เพื่อรับช่วงในเก้าอี้นายกฯ ไม่ให้ขาดตอน และกระแสแคนดิเดตนายกฯ 3 คนที่มีชื่อของ “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ร่วมอยู่ด้วย

นี่เองที่ทำให้ “บิ๊กตู่” ยังไม่ให้ความชัดเจนเรื่องอนาคตทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ  ด้วยไม่มั่นใจว่า หากมีการเสนอชื่อของ “บิ๊กตู่”ร่วมเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯแล้ว เอาเข้าจริงแล้วอาจถูก “หักดิบ” จากคนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” ที่ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ทำให้เขาไม่ได้กลับเข้าสู่ศูนย์อำนาจตึกไทยคู่ฟ้าก็เป็นไปได้

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 30 พฤศจิกายน จึงมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งและสมดุลอำนาจของ “บิ๊กตู่”

โดยที่มีรายงานระบุว่า ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ปรากฏว่า ทางกกต. ได้ชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ.2564 ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 92 ถึงมาตรา 94 ให้สอดคล้องกับรูปแบบการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี และจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงได้รับ กกต.จึงไม่มีกรณีที่จะต้องคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 92 ถึงมาตร94

นั่นทำให้มีกระแสข่าวออกมาถึงแนวโน้มการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะวินิจฉัยให้กฎหมายลูก เกี่ยวกับสูตร หารด้วย 100 ขัดรัฐธรรมนูญ นั่นเท่ากับว่า จะต้อง “ยูเทิร์น”กลับไปใช้สูตร หาร ด้วย 500 อีกตลบหรือไม่!!

ที่หากเป็นเช่นนั้น จะก่อให้เกิดเอฟเฟกต์ทางการเมือง ทั้งดับฝันแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย กระทบชิ่งไปถึงดีลลับจัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้าระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย และส่งผลต่อเกมอำนาจในมือของ “บิ๊กป้อม” ไปด้วย

และแน่นอนว่าจะเป็นสมการแปรผัน ให้อำนาจในมือของ “บิ๊กตู่” เพิ่มขึ้น

กระทั่งพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่าจะได้เปรียบจากสูตรหาร 500 มากที่สุด ก็อาจสะดุดด้วยเกมยุบพรรค

เมื่อมองหมากทั่วกระดาน จะเห็นได้ว่า ไม่ว่า “บิ๊กตู่”จะตัดสินใจอย่างไร หลังจากนี้ พี่น้อง 3 ป. จะแยกทาง ดั่งแม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ แต่ก็มีโอกาสที่แม่น้ำจะมาบรรจบกันได้

ท่ามกลางกลเกมการเมือง ลับ ลวง พราง!