บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ของดีเมืองไทยว่าด้วย “เหล้า” เป็นภาษาเรียกของชาวบ้าน แต่ในภาษาราชการเรียกว่า “สุรา” ความหมายที่แท้จริงตามกฎหมายคือ เครื่องดื่มที่ใช้ดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic Beverages) ที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) เป็นองค์ประกอบ ตามมาตรฐาน มอก.(2544) คือ เครื่องดื่มที่มีแรงแอลกอฮอล์เกิน 0.5 ดีกรี แต่ไม่เกิน 80 ดีกรี สุราแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) สุรากลั่น ได้แก่ สุราขาว สุราผสม สุราผสมพิเศษ สุราปรุงพิเศษ (2) สุราไม่กลั่น เช่น เบียร์ ไวน์ กะแช่ น้ำขาว น้ำตาลเมา

แม้จะเป็นที่กังขาสงสัยในคำนิยามก็ต้องยอมรับในคำนิยามที่เขียนไว้ในกฎหมายหลักและกฎหมายรองในที่ต่างๆ กัน เพราะปัจจุบันกฎหมายเฉพาะว่าด้วยสุราไม่มี เพราะได้ถูกยกเลิกไปแล้วตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 (กฎหมายรวมสุรา ยาสูบ ไพ่) ที่ให้ยกเลิก กฎหมายเกี่ยวข้องรวม 45 ฉบับ ที่สำคัญคือ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 (แก้ไขถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2534) พ.ร.ก.สุรา พ.ศ.2501 (แก้ไขถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2513) และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 (แก้ไขถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2556) ซึ่งดูแล้วเป็นกฎหมายหลักที่เก่ามาก ปัจจุบันมีกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์มากมาย ได้แก่ พ.ร.บ., กฎกระทรวง, ประกาศกระทรวง (กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม), ประกาศกรมสรรพสามิต, ระเบียบกรมสรรพสามิต และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นี้ ปัจจุบันมีกฎหมายหลักเกี่ยวข้องควบคุมหลักอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

เรื่อง กัญชาเสรี กระท่อมเสรี สุราก้าวหน้า (สุราเสรี) ตามมาเป็นพรวน แต่การเตรียมการของรัฐบาลไม่มีสิ่งใดคืบหน้า และล่าสุดสภามีการคว่ำกฎหมายร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า สกัดความหวังของชาวบ้าน ด้วยการเอื้อนายทุนใหญ่ ผูกขาดการผลิตอยู่กับทุนรายใหญ่ ลองมาเปิดประเด็นเรื่องเหล้าพื้นบ้านหรือที่เรียกว่า “สุราก้าวหน้า” ที่อีกฝ่ายเรียกว่า “สุราเสรี” ซึ่งโดยนัยแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน

สภาคว่ำร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า

ความหวังในการฟื้นฟูการผลิตสุราพื้นบ้านไทยที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานจบลงทันที ด้วยข้ออ้างที่เกรงว่าเหล้าเถื่อนจะเกลื่อนเมืองซ้ำรอย “กัญชาเสรี” ที่มีปัญหาอยู่ แต่ฝ่ายค้านเห็นว่า นี้เป็นร่างกฎหมายแรกที่จะทลายระบบทุนผูกขาดเหล้า เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565 “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ตามภาษาชาวบ้านหรือ “ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ....” สภาได้ลงมติคว่ำร่างกฎหมายวาระ 2-3 ด้วยคะแนนเสียง 196 ต่อ 194 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง แพ้ไปเพียง 2 คะแนน นอกจากนี้ยังมีประกาศตัดหน้า (ปาดหน้า) ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฉบับนี้ไปเพียงวันเดียว ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเห็นว่า ไม่ใช่ “ปลดล็อกการผลิตสุรา” อย่างแท้จริง คือการประกาศ “กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565” ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ด้วยเหตุผลว่า เป็นการปรับปรุงการอนุญาตผลิตสุรา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรารวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรา เป็นกฎหมายลำดับรอง กฎหมายลูกหรือกฎหมายของฝ่ายบริหาร ที่มีศักดิ์กฎหมายต่ำกว่า พ.ร.บ. ซึ่งฝ่ายบริหารจะตราเมื่อใดก็ได้ แต่การเร่งรีบตราในช่วงนี้ จึงเป็นข้อสงสัยในความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

การตัดตอนล้มกฎหมายสุราก้าวหน้า (บางคนยังเรียกเหล้าเสรี) ด้วยการออกกฎกระทรวงใหม่ มีข้อกังขาว่าเอื้อนายทุนหรือไม่อย่างไร เพราะทำให้ธุรกิจของชาวบ้านธรรมดาๆ เกิดยาก หวังว่ามันคงไม่ใช่อคติ หรือการไม่รับรู้ของ ส.ส.ที่คัดค้าน ส.ส.ทำเพื่อใคร เอาตนเองรอดหรือไม่ มันเป็นเรื่องทุน (กลุ่มทุน) ที่มาหนุนพรรคการเมืองหรือไม่ หรือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ถูกรัฐร่วมนายทุนฮุบไป

ตำนานเหล้าเถื่อน ส.ร.ถ.หรือ “สุราเถื่อน”

ปัญหาเหล้าเถื่อน สุราเหล้าขาวกลั่นเองพื้นบ้านที่หมักจากข้าวเหนียว ในชนบทบ้านนอกมีมานาน คนบ้านนอกรู้จักกันในชื่อ ส.ร.ถ.หรือ “สุราเถื่อนเหล้าขาวที่ไม่เสียภาษี” (Illegal liquor) เป็นคำกินใจของคนบ้านนอกมาช้านาน เพราะวิถีพื้นบ้าน เช่น คนเหนือจะมียาดอง มีพิธีกรรมสำคัญ เช่น “การเลี้ยงผี” ผีปู่ย่า เป็นต้น จะมี ลูกแป้ง (ส่าเหล้า) ข้าวหมาก สาโท และเหล้าขาวต้มเอง เอาไว้กินกันในเทศกาล ในช่วงเทศกาล ในงานพิธีต่างๆ ของคนบ้านนอก และ ในช่วงการลงแขกตีข้าว นวดข้าวในตอนกลางคืน สมัยก่อน คือ ช่วงเกี่ยวข้าว ตีข้าว นวดข้าว ในฤดูหนาว สมัยก่อน ชาวบ้านจะทำสาโท และเหล้าขาวเอาไว้ให้คนที่มาช่วยลงแขก แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมเปลี่ยนไปมาก มีรถเกี่ยวข้าว บ้านใครบ้านมันชาวบ้านก็จ้างรถเกี่ยวข้าวใส่ถุงปุ๋ย แล้วไปตากเลย ทำให้ไม่มีประเพณีช่วยกันลงแขกตีข้าว เด็กๆ อีสานสมัยนี้จะไม่เห็นการลงแขกตีข้าวช่วยกันในตอนกลางคืน ในภาคอีสานการลงแขกตีข้าวหายไปหมดสิ้นแล้ว เพราะ ชาวบ้านต้มกินเองไม่คุ้ม สู้เหล้าขาวสรรพสามิต เหล้าแดงและเบียร์ในพื้นที่ไม่ได้ สมัยก่อนเด็กๆ ในภาคเหนือชอบไปร่วมการตีข้าว ที่มีหมักสาโทไว้ดื่มกินคลายเครียด หรือมีแอบใส่ยาม้าในน้ำดื่ม (สมัยก่อนยังไม่มียาบ้า) การตีข้าวหากเดือนมืดก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุ เป็นที่รื่นรมย์ของเด็กๆ ที่ชอบไปเล่นกองฟาง ช่วงปิดเทอม เป็นเพื่อนผู้ใหญ่ในการตีข้าว จนกระทั่งการตีข้าวแล้วเสร็จในตอนดึกๆ เป็นต้น ปัจจุบันในภาคเหนือพื้นที่สูง ข้าวไร่ อาจพอมีให้เห็น สำหรับภาคใต้เหล้าเถื่อนจะทำจากตาลโตนด วัฒนธรรมจึงแตกต่างจากทางเหนือและอีสาน

ตำนานการไล่ล่าปราบปรามเหล้าเถื่อนชาวบ้าน

สมัยก่อนย้อนไปราว 40-50 ปีก่อน เด็กบ้านนอก ชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน จะพบเห็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิตออกตรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลูกจ้าง พร้อมอุปกรณ์ครบชุด เช่น เหล็กแหลม และอาวุธ มาเป็นคันรถ ไปตามพื้นที่ที่สายรายงาน เพื่อตรวจยึด ทำลาย วัสดุอุปกรณ์การผลิต และไหหมักสาโท หมักเหล้า (ก่อนการต้มกลั่น) ที่ชาวบ้านมักซ่อนไว้ในป่า หรือฝังดินไว้ และการจับกุมเจ้าของผู้ครอบครองวัสดุอุปกรณ์นั้น และชาวบ้านผู้ลักลอบต้มเหล้าเถื่อน ที่ส่วนใหญ่จะลักลอบทำกันในป่า หรือ ทำกันตอนกลางคืน การตรวจจับชาวบ้านจึงยาก ทำได้เพียงการยึดทำลายอุปกรณ์ (หากพบ) เท่านั้น สมัยนั้นเด็กๆ เมื่อเห็นตำรวจมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่สรรพสามิตก็จะพูดว่า “ตำรวจตรวจขี้แห้ง” เป็นความหมายเชิงล้อเลียนครื้นเครงว่า มาตรวจก็จะพบแต่ขี้แห้งๆ ที่ชาวบ้านถ่ายไว้ตามป่า ในสวน ในไร่ ในนา หรือในที่ที่เข้าถึงยาก ก็จะไม่เจอไหเหล้า เพราะชาวบ้านซ่อนไว้ดีมาก หรือ พบไหเปล่าที่ไม่มีไหหมัก เป็นต้น

สถานการณ์การระดมกำลังออกปราบปรามชาวบ้านบางครั้งเป็นสงครามไปเลย เช่นในพื้นที่จังหวัดแพร่ ด้วยทุนหนุนจากโรงต้มกลั่น (เหล้าสรรพสามิต) ในพื้นที่ เพราะเหล้าขาว เหล้าแดง (เหล้าสี) ในพื้นที่ยอดขายลด ไม่มียอดขาย เช่น ในช่วงเทศกาลต่างๆ จะมีการระดมส่งสายตรวจเจ้าหน้าที่สรรพสามิตออกตรวจจับล้างบางครั้งใหญ่ เกิดการปะทะกับชาวบ้าน หรือถูกตัดตอนโดยชาวบ้าน เช่น การวางตะปูเรือใบรถเจ้าหน้าที่ การล้อมกรอบแย่งตัวผู้ต้องหา แย่งอุปกรณ์ ฯลฯ การจับปรับ จับเคลียร์ ในสถานการณ์ปกติก็มีทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผลิตเหล้าเถื่อนกันมากๆ เมื่อชาวบ้านถูกกดดัน ทำให้ชาวบ้านสูญเสีย เพราะวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการเสียค่าปรับมันคือแรงงานของชาวบ้าน เป็นต้นทุนของชาวบ้านในการดำรงชีวิต ส่งลูกหลานเรียน หากถูกจับครั้งหนึ่งก็เรียกได้ว่าล้มละลายไปเลยทีเดียว ต้องมาลงทุนใหม่ เสียค่าใช้จ่ายอีกมาก

ในสมัยนั้นค่าปรับผู้ผลิตแพงมาก รวมถึงค่าปรับการขายเหล้าเถื่อน ส.ร.ถ.ด้วย เพราะ ค่าปรับไม่ได้วัดกันที่ปริมาณจำนวนเหล้าที่ครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ขวดเปล่าที่ใส่เหล้า มีเหล้าติดที่ก้นขวดก็จับไปปรับ เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความจน และความคุ้มค่า เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีมาช้านานแล้วในสายตาของชาวบ้าน จึงยังคงมีการลักลอบผลิตกันเรื่อยมา บางหมู่บ้านมีการรวมกันผลิตทั้งหมู่บ้าน และรวมตัวกันต่อต้านเจ้าหน้าที่สรรพสามิตทุกรูปแบบ เช่น การขัดขวางการจับกุม การจัดเวรยามเฝ้าระวัง การวางตะปูเรือใบรถเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เช่นที่หมู่บ้านห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ แม้ปัจจุบันนี้ชาวบ้านตำบลห้วยหม้าย ก็ยังผลิตเหล้าขาวกันอยู่ มีทั้งเถื่อน และที่ติดแสตมป์(อากร)เสียภาษีสรรพสามิตแล้ว (บางส่วน) เพราะคนบ้านนอกยังนิยมดื่มเหล้าขาวกลั่นพื้นบ้าน โดยเฉพาะในงานศพ งานบวชนาค เป็นต้น

เปิดข้อมูลเหล้าขาวชาวบ้านภาคเหนือ

นอกจากเหล้าขาว(ข้าวเหนียว) ก็มีเหล้าข้าวโพดชาวม้ง(ใสเป็นตาตั๊กแตน เหล้าแรงมาก) เหล้ากะเหรี่ยงพื้นบ้าน(รสเปรี้ยว) สาโท เหล้ายาดอง หรือยาดองเหล้าขาวพื้นบ้าน เหล้าป่าเหล้าพื้นบ้านเฉพาะถิ่นต่างๆ เช่น เหล้าดาวลอย ในท้องที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อีกมากมาย เป็นต้น นี่ยังไม่รวมเหล้า เบียร์หมัก ไวน์ผลไม้ต่างๆ เช่น ไวน์มะเม่า (อีสาน) หรือหมักเบียร์สด หรือข้าวหมากไทย ที่เห็นมีขายตามร้านสะดวกซื้อ และหรืออื่นๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ ว่ากันว่า ชาวบ้านนอกนิยมกินเหล้า ส.ร.ถ. ก็เพราะว่า ชาวบ้านเชื่อในฝีมือการต้มกลั่นว่าไม่มีสารพิษผสม เขารู้เห็นกระบวนการผลิตมาดีแล้ว (มีการปล่อยข่าวว่าการผลิตไม่มาตรฐาน หรือมีสารพิษ) รสชาติดีกว่าเหล้าขาวสรรพสามิตที่รสไม่ดีมีกลิ่นแรงขึ้นจมูก เมื่อสร่างเมาก็จะปวดหัว แต่ ส.ร.ถ. เหล้าต้มเองดื่มแล้วอร่อย จะไม่ปวดหัว (ไม่แฮงค์) เพราะเป็นวิถีชาวบ้านดังกล่าวข้างต้น ในภาคอีสานก็มีสาโท เหล้าขาว อุพื้นบ้าน ภาคกลางภาคใต้ก็มีกะแช่น้ำตาลเมา

มีงานวิจัยเรื่องสุราเถื่อนในสังคมไทย โดยการสนับสนุนทุนของ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ทำให้สาธารณชนได้ทราบความเป็นมาของเหล้าเถื่อน หรือ ส.ร.ถ. ในมิติต่างๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชาวบ้าน สถานการณ์การค้า ระบบการผลิต การตลาด การจำหน่าย การเข้าถึง พฤติกรรมการซื้อ-ดื่ม และประเมินปัญหาการดื่มสุราเถื่อน เป็นต้น ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวิถีพื้นบ้านของคนบ้านนอกที่มีมาช้านานตั้งแต่อดีตสมัยการทำป่าไม้ในภาคเหนือ (เปิดป่า) และยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน ที่ชาวบ้านได้พัฒนามาเป็นโรงกลั่นสุรา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตามกฎหมายได้ และโรงกลั่นสุราเถื่อน มีขายแบบทั้งตามระบบภาษีและขายเถื่อน (โรงกลั่นสุราเถื่อน) ข้อมูลกรมสรรพสามิตปี 2562 จังหวัดที่มีสุรากลั่นชุมชน สุราแช่ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตมากที่สุด คือ จังหวัดแพร่ มีผู้ประกอบการสุรากลั่น ชุมชน จำนวน 203 แห่ง รองมาคือ จังหวัดลำปาง 187 แห่ง สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ประกอบการสุราแช่มากที่สุดใน ประเทศ จำนวน 13 แห่ง รองมาคือ จังหวัดเชียงราย จำนวน 11 แห่ง พื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีการ ผลิตแบบเถื่อน หรือลักลอบจำหน่าย ด้วยการบรรจุในถุงพลาสติกทั้งขนาดเล็กและใหญ่ที่ขายเป็นปริมาณมาก การบรรจุขวดพลาสติก ถังแกลลอน ถังน้ำดื่ม เป็นต้น การผลิตสุรากลั่นชุมชน สุราแช่เหล่านี้ยังพบปัญหาสำคัญคือ มีผู้ผลิตบางแห่งลักลอบจำหน่าย หรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้ติดอากรแสตมป์ การควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตยังไม่ดีพอ

อันดับหนึ่งคอเหล้าเป็นคนเหนือ

จากสถิติโรงกลั่นเหล้ามากที่สุด แน่นอนว่าสัดส่วนนักดื่มอายุ 15 ปีขึ้นไปสูงที่สุดก็คือ ภาคเหนือ มีคนติดเหล้าสูงติดอันดับฉายา “ขี้เหล้าหลวงแห่งล้านนา” สถิติปี 2564 คนไทยเป็น “สุดยอดนักดื่มประจำเอเชีย” ดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี รองมาเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และจีน 127 ขวด/คน/ปี ค่าดื่มเบียร์คนไทยคนละ 686 ดอลลาร์ต่อปี หรือราวๆ 21,093 บาทต่อปี พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีตัวเลขนักดื่มมากที่สุด

ข้อมูล ศวส.ใน 5 อันดับแรก ปี 2564 คือ (1)จังหวัดเชียงราย (45.3%) (2)จังหวัดลำพูน (44.1%) (3)จังหวัดพะเยา (44.0%) (4)จังหวัดน่าน (42.4%) (5)จังหวัดสุรินทร์ (40.6%) 5 อันดับแรก ปี 2565 คือ (1)จังหวัดน่าน (43.3%) (2)จังหวัดแพร่ (42.9%) (3)จังหวัดเชียงราย (41.4%) (4)จังหวัดสระแก้ว (41.0%) (5)จังหวัดพะเยา (40.7%) มีจังหวัดภาคเหนือตอนบนถึง 6 อันดับ แยกเป็นคนดื่มหนัก 15.96 ล้านคน ดื่มประจำ 6.99 ล้านคน ดื่มเป็นครั้งคราว 8.97 ล้านคน รวม 31.92 ล้านคน ประมาณ 48.23% คิดจากฐานประชากรไทยทั้งประเทศ, 66.17 ล้านคน (ปี 2564) คนน่านติดแชมป์ขี้เหล้าหลวงรวม 5 ปีซ้อนติดต่อกัน

ปี 2544 รัฐบาลทักษิณ มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน หนึ่งในนั้น คือการส่งเสริมการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง ผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี ให้ชาวบ้าน ที่เรียกว่า ผู้ผลิตรายย่อย สามารถผลิตและจำหน่ายสุราพื้นเมือง ส่งผลให้มีโรงงานสุรา เกิดขึ้นจำนวนมากในชุมชนต่างๆ ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์สุราทั้งสุราแช่ สุราหมัก ไวน์ฯ ในช่วงเวลานั้น มีไวน์ผลไม้ ติดป้าย “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ถูกผลิตออกมา วางขายกันเกลื่อนกลาด นัยยะว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าราคา ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักและมีราคาถูก ให้มีราคาสูงขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้มีการออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 4) เห็นชอบ นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนของรัฐบาล ตามมาด้วย ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตให้ทำสุรากลั่นชุมชน พ.ศ.2546

ข้อห่วงใยกังวลข้อเสียในสุราพื้นบ้าน

ไม่ว่า สุรา หรือกัญชา หากทำเป็นยา ยาดอง เอาเหล้ามาสร้างประโยชน์ให้พอดีได้ก็จะเป็นคุณทั้งต่อเศรษฐกิจและสุขภาพ ตามหลักการสิ่งใดดี ก็ควรทำ อะไรไม่ดีก็ควรละเว้นเสีย หากใช้ในทางสันทนาการมาก ก็จะเกิดโทษ ของทุกอย่างมีคุณมีโทษ ความวิตกกังวลในปัญหามากเกิน จนลืมไปในส่วนที่ดี การไม่เข้าไปช่วยส่งเสริม เป็นการทำร้ายชาวบ้าน จนอ่อนแอลง เพียงนั่งรอสวัสดิการจากรัฐ จนชาวบ้านไม่อยากจะช่วยเหลือตนเอง หรือในต่างมุมการเรียกร้องประโยชน์เพื่อสาธารณะมากเกิน จนไม่คิดจะช่วยชาวบ้าน ด้วยเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้สังคม แต่ในท่ามกลางผลประโยชน์ทุนที่ขัดกัน ความไม่ลงตัวกัน ความทุกข์มันกลับไปลงเต็มๆ ที่ชาวบ้านผู้เสียเปรียบทุนอยู่แล้ว มันไม่เป็นธรรม

ด้วยความเป็นห่วงเยาวชน จึงมีคนต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ เช่น สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ที่เปิดให้เสรีในการผลิต การขาย ไม่ว่าทั้ง กัญชา สุรา ในด้านสุขภาพ การดื่มสุรามากเกินย่อมส่งผลต่อสุขภาพ ตับอักเสบ มะเร็งตับ ตายด้วยอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ฯลฯ สุราเหล้าขาว (ขวดแดง)ที่หมักจากกากน้ำตาลเต็มไปด้วยยูเรียและสารตกค้าง เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภค เหล้าจากลาว มีปัญหาปลอมปนสารเคมี แต่งสี แต่งกลิ่น อันตราย หรือเหล้าปลอมจาก Duty Free ตามด่านชายแดนปลอดภาษี ทำให้เกิดมะเร็งง่าย เป็น มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะได้

ท้ายนี้ขอฝากข้อคิดเล็กๆ แต่ใหญ่ยิ่งแก่ผู้มีอำนาจว่า สิ่งใดดีทำไป สิ่งไม่ดีก็อย่าทำ โดยเฉพาะการปลดล็อก “สุราพื้นบ้าน” อย่างไรให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ด้วยการ “ปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน ไม่มีกีดกัน” ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 คือสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมเพียงพอแก่ประชาชน นี่ต่างหากคือเป้าหมาย ให้คนรากหญ้าก้าวพ้นจากสังคมที่ด้อยพัฒนา และเหลื่อมล้ำเสียที จากวาทกรรมอมตะ “โง่ จน เจ็บ” หากทำดีๆ นี่มันคือ Soft Power ไทยชัดเจน