ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“โลกสีทอง” คือความฝันที่มีแต่ความสวยงาม แต่ “โลกสีดำ” คือความจริงที่แสนเศร้าและทุกข์ทน

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถูกขนานนามว่าเป็น “วันมหาวิปโยค” แต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีเรื่องเศร้ามากกว่าก็น่าจะเรียกว่า “วันอภิมหาวิปโยค” ด้วยเป็นการกระทำที่จงใจต่อนักศึกษาที่ไม่มีทางสู้ ในบริเวณมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ค่ายคูสู้รบใด ๆ ด้วยการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธหนักเต็มอัตรา ด้วยพฤติกรรมที่ทารุณแสนทุเรศน่าอนาถ จากกลุ่มผู้นำที่หวังคืนสู่อำนาจ โดยอ้างความวุ่นวายของประชาธิปไตย

อัมพรไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยในวันนั้น เขาอยู่ในระหว่างกลับมาเยี่ยมบ้าน แต่เมื่อได้ทราบถึงเหตุการณ์ในวันนั้น รวมถึงการสูญเสียเพื่อนบางคนที่ถูกรุมยิง กับเพื่อน ๆ อีกหลายคุณที่ถูกทารุณกรรมในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ก็ทำให้เขาไม่กล้ากลับไปที่มหาวิทยาลัย เขาไปอยู่ที่บ้านเพื่อนในอีกอำเภอหนึ่ง เพื่อฟังข่าวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เขาติดต่อรุ่นพี่คนหนึ่งทางจดหมายก็ทราบว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีนโยบายที่จะปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด รุ่นพี่คนนั้นบอกว่าเขาจะ “เข้าป่า” แต่ไม่บอกว่าที่ใด เพียงแต่บอกว่าจะมีกลุ่มของรุ่นพี่คนนี้ 7 - 8 คน นัดกันไปเที่ยวที่หล่มสักในอีกไม่กี่วัน เขาเขียนจดหมายไปบอกพ่อว่าจะไปทำงานทางภาคเหนือสักเดือนสองเดือน แล้วจะแจ้งข่าวอีกที ก่อนที่จะไปรวมกลุ่มกับพวกรุ่นพี่ที่หล่มสัก

ในวัยย่าง 20 อัมพรก็เหมือนเด็กหนุ่มทั่ว ๆ ไปในยุคนั้น ที่เต็มไปด้วยความสงสัยไม่มั่นใจในชีวิต ผู้คนเรียกมันว่าเป็นวัยแห่ง “การแสวงหา” รวมถึงสังคมของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็ถูกเรียกไปด้วยว่าเป็น “ยุคแสวงหา” เพื่อให้แตกต่างไปจากสังคมในยุคก่อน ที่คนหนุ่มสาวเอาแต่สุขสบายไม่สนใจสังคมรอบข้าง อย่างที่เรียกว่า “ยุคสายลมแสงแดด” อัมพรก้าวเท้าลงจากรถโดยสารในตอนเย็นเมื่อถึงตลาดหล่มสัก เขามองท้องฟ้ายามที่จะสิ้นแสงของวันเหมือนกับว่าจะไม่ได้เห็นมันอีก เพราะต่อไปนี้เขากำลังก้าวไปสู่อีกโลกหนึ่ง ที่ตัวเขาและสังคมของเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมกับหวังว่าจะได้พบกับสิ่งที่เขาแสวงหา “โลกที่มีฟ้าสีทอง” ในความผ่องอำไพของท้องฟ้านั้นตามบทกวีที่เขาท่องได้ขึ้นใจ “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

มีรถกระบะคันหนึ่งมารับเขากับรุ่นพี่และผู้ร่วมเดินทางรวม 10 คน ชาย 7 หญิง 3 ทั้งหมดนั่งเบียดกันไปสัก 3 ชั่วโมง ก็ไปถึงบ้านยกพื้นสูงหลังหนึ่ง ทั้งหมดแยกกันขึ้นไปนอนตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน จนเช้าจึงเห็นว่าพวกเขาเข้ามาอยู่ที่ชายป่า มองไปด้านหลังบ้านเห็นภูเขาหลายลูกทับทอดกันหายลึกเข้าไปในท้องฟ้า มีคนแปลกหน้าสองคนสะพายปืนอาก้ามารับพวกเขาเดินเข้าไปในป่าและลัดเลาะไปตามไหล่เขา จนค่ำของอีกวันจึงขึ้นไปถึง “ลานวีรชน” มีคนที่เรียกกันว่า “หัวหน้า” มากล่าวต้อนรับตอนกินข้าว อัมพรจำได้แต่ตอนต้นที่หัวหน้าคนนั้นพูดว่า “ที่นี่คือบ้านใหม่ของสหาย และโลกใหม่ของประเทศไทย” และในคืนนั้นเขาก็หลับไปในกระท่อมมุงใบตองตึง ก่อนที่จะตื่นมาตอนใกล้รุ่ง ที่เขามองขึ้นไปบนท้องฟ้าสีเทาเข้มนั้นก็ได้เห็นดาวตกกับทางช้างเผือก เป็นภาพที่เขาไม่เคยเห็นมาเลยในชีวิต ทำให้เขาอุทานขึ้นในใจว่า “นี่หรือโลกใหม่”

เขาจำเช้าวันแรกบนเขาค้อนั้นได้ติดตา พอฟ้าสวยที่ประกับด้วยดาวและทางช้างเผือกหายวับไป ดวงอาทิตย์ที่แหวกทะเลหมอกขึ้นมาก็ทอแสงสวยงามไม่น้อยไปกว่ากัน เสียงตะโกนว่าให้ไปเข้าแถวหน้าลานเสาธงอีกภายใน 15 นาที อัมพรรีบทำธุระส่วนตัว แปลงฟันและล้างหน้าเสร็จแล้ว ก็รีบไปยืนรวมกับคนอื่น ๆ ที่มารออยู่ก่อนนั้นแล้วราว 40 คน ตรงนั้นเป็นลานดินในร่มไม้ในพื้นที่ราว ๆ 1 งานเศษ มีเสาไม้สูงขนาด 10 เมตร แต่ก็ไม่สูงพ้นออกไปจากแนวยอดต้นไม้อื่น ๆ มีธงผ้าสีแดงผูกไว้ที่โคนเสา ทั้งหมดเข้ายืนกันเป็นแถวหน้ากระดาน 4 แถว ๆ ละ 10 คน อัมพรถูกจัดให้อยู่ในแถวหน้าสุดพร้อมกับพวกที่มาด้วยกันเมื่อคืนที่ผ่านมา เมื่อเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาแล้วก็มีการร้องเพลง ก่อนที่หัวหน้าจะมายืนกล่าวที่หน้าเสาธงนั้นอย่างยืดยาว โดยเป็นเรื่องของหน้าที่และภารกิจต่าง ๆ ที่แต่ละคนจะต้องมาช่วยกัน “ทำงาน” ที่นี่

กิจวัตรหรือ “งาน” ที่ทำที่นั่นในช่วงเดือนแรกก็คือการทำ “งานบริการ” ทุกเช้าหลังเข้าแถวหน้าเสาธงแล้ว ก็จะมีการออกกำลังกายราวครึ่งชั่วโมง แล้วก็ไปทำงานของกลุ่ม โดยกลุ่มที่พักอยู่กับอัมพรราว 40 คนนั้นคือ “กลุ่มแกนใหม่” มีหน้าที่ทำอาหารให้กับกลุ่มอื่น ๆ ที่มาอยู่ก่อนหน้านั้น กลุ่มอื่น ๆ น่าจะมีอีก 5 - 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มน่าจะมีคนระหว่าง 50 - 70 คน โดยรู้ได้จากจำนวนอาหารที่ได้รับมอบหมายให้ทำส่งแต่ละกลุ่ม ที่อยู่กระจายกันลงไปตามป่าใกล้ ๆ กัน ว่ากันว่าคือ “หน่วยจรยุทธ” ที่ส่งไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งพอเดือนต่อมาอัมพรกับเพื่อน ๆ ในพวกที่มาใหม่ก็ได้ไปเข้ากลุ่มฝึกเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยได้ลงไป “สู้รบ” กับใครสักครั้งเดียว ส่วนมากก็คือลงไปทำงานกับชาวบ้านที่เป็น “หมู่บ้านจัดตั้ง” เพื่อหาเสบียงและส่งข่าว รวมถึงหยูกยาและเวชภัณฑ์ ที่จะมี “สหายในเมือง” เป็นผู้นำมาส่งให้ ซึ่งอัมพรมาทราบในตอนที่ลงไปรับข้าวของเหล่านั้นในวันหนึ่งว่าเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นรัฐมนตรีก็มี บางคนก็คือพ่อแม่ของนักศึกษาที่หนีเข้าป่า แต่เป็นนักธุรกิจมีชื่อเสียงก็จะให้ลูกน้องนำข้าวของต่าง ๆ มาให้ ด้วยความห่วงใยลูก ๆ หลาน ๆ นั้นอยู่ด้วย

“ชีวิตบนภูเขา” ในเวลาที่เป็น “พวกป่า” นี้ต่างกับตอนที่อัมพรเคยมาเข้าค่ายตามหมู่บ้านชายเขาเมื่อตอนที่เรียนปี 1 นั้นมากมายนัก ชีวิตบนภูเขาทุกวันเต็มไปด้วย “ความกลัว” อย่างที่ได้เห็นแล้วว่าลานเสาธงหรือการเข้าแถวก็ต้องไปเข้าแถวใต้ร่มไม้ เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตของเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ที่อาจจะมาลาดตระเวนค้นหา ซึ่งถ้าวันไหนได้ยินเสียงเครื่องยนต์เหล่านั้นก็ต้องเลิกเข้าแถวหรือหลบซ่อนอยู่ในที่พัก ซึ่งก็ทำเป็นเพิงลำลอง มุงด้วยใบไม้ที่จะต้องเปลี่ยนใบสดมาคลุมบ่อย ๆ เพื่อพรางตาการลาดตระเวนด้วยเช่นกัน การทำอาหารก็ต้อง “พรางควัน” คือทำท่อควันให้ออกไปอยู่ในหลังพุ่มไม้ และต้องย้ายโรงครัวอยู่เป็นประจำ ยิ่งตอนกลางคืนแล้วการจุดไฟต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่การส่งเสียงเช่นร้องเพลงก็ต้องไม่ให้มีเสียงดังมากเกินไป เพื่อนบางคนที่เอาขลุ่ยหรือเม้าท์ออร์แกนติดตัวมาด้วยก็ไม่ได้ใช้บรรเลงกล่อมใจอย่างที่คิดฝัน ชีวิตจึงหดหู่ยิ่งนัก โดยเฉพาะเวลาที่คิดถึงความสุขสบายบนพื้นล่าง แม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำก็ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ด้วยบรรดา “สหายครู” ที่มาสอนทักษะการรบและการใช้ชีวิตนั้น เน้นมากเรื่องการ “ตื่นตัว” ทุกลมหายใจ

อัมพรอยู่บนเขาค้อได้ไม่ถึงปีก็ต้องหนีลงมา ไม่ใช่เพราะเกลียดชังคอมมิวนิสต์ แต่ก็เพราะความรักตัวกลัวตาย และมองว่าการต่อสู้นั้นทำได้หลายแนวทาง ไม่ใช่ใช้กำลังต่อสู้กัน ซึ่งเขารู้ว่าคอมมิวนิสต์ไทยไม่มีวันทำได้