โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะสามารถ พัฒนาเกษตรกรไทย สู่การเป็นผู้นำในภาคเกษตรกร มีความรู้ ความสามารถ สามารถแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีจึงได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรภายใต้ความดูแลให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งยังพูนองค์ความรู้ในส่วนต่างๆ ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวได้มากยิ่งขึ้น 

ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สมาชิกมีความพร้อมในการที่จะพัฒนาตนเอง ให้เกิดความเข้มแข็ง และต่อยอดสู่การเป็น Smart Farmer ภายใต้การอบรม แนะนำ ส่งเสริมจากศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี จนปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มผ่านการอบรมพร้อมเป็น Smart Farmer มากถึง 4 ราย 

นางวิภาวดี ทองเอก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี เปิดเผยว่า  ในการคัดเลือกเกษตรกรปราดเปรื่อง ทางศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีจะเข้าไปคัดเลือกเกษตรกรจากศูนย์ข้าวชุมชนในจังหวัดสระบุรี ว่ามีความโดดเด่นในด้านใดบ้างของแต่ละกลุ่ม  โดยจะคัดเลือกกลุ่มละ 1 ราย แต่เนื่องจากว่าในกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม  มีสมาชิกและตัวเกษตรกรเอง ที่มีความสนใจและมีความพร้อมที่จะไปอบรมเพื่อที่จะเปิดรับ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ในเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นที่มาของการต่อยอดเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องได้มากถึง 4 ราย นั่นเอง ในส่วนของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ได้เข้ามาส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม ในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว มาเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปีนี้เป็นปีสุดท้ายในการสนับสนุนส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร และนอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการแปลง และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดี และได้มาตรฐาน

เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีคุณภาพ การจัดการแปลง การใช้ปุ๋ย และการตัดพันธุ์ปน การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาหลังเก็บเกี่ยว เพื่อที่จะให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน  และการส่งเสริมเรื่องการป้องกันกำจัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว เนื่องจากว่ากลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม ยังไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องการป้องกัน กำจัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว  ซึ่งหลังจากศูนย์ได้เข้ามาส่งเสริม ทางกลุ่มเองก็ต้องมีการดูแล บริหารจัดการกลุ่ม และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับมาในเรื่องของการปลูกข้าว การจัดการแปลง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู การสำรวจแมลงในแปลงนาและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดี และมีมาตรฐาน เพื่อนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดแก่สมาชิกในกลุ่มต่อไป

นางสาวยุพิน สุปวา เกษตรกรปราดเปรื่อง ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม  เล่าว่า จากเดิมตนทำนาแบบรายเดี่ยว ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการทำนา ทำตามวิถีเดิมๆ จากรุ่นสู่รุ่น ต่อมามีกรมการข้าว เจ้าหน้าที่ทางศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี กรมการข้าว เข้ามาประชุม อบรม แนะนำวิถีการทำนา ว่าควรเราจะทำนาแบบไหนถึงจะถูกต้อง ถูกลักษณะ เมื่อมาลองฟังแล้วรู้สึกว่าน่าจะเกิดผลดีถ้าปรับเปลี่ยนมาทำนาตามคำแนะนำของกรมการข้าว เพื่อจะได้ทราบว่าควรใส่ปุ๋ยอย่างไร เมล็ดพันธุ์ข้าวต้องใช้แบบไหน อย่างเช่นการทำนาในแต่ละปี หลังการเก็บเกี่ยวควรเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง ก็ได้มีความรู้มากขึ้น จนปัจจุบันตนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม และต่อยอดเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง ซึ่งการเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องของตนนั้น คือการได้นำองค์ความรู้ที่ได้มา ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำนาที่ถูกต้องได้อีกช่องทางหนึ่ง หลังจากการปรับตัวเข้าสู่การทำนาภายใต้คำแนะนำของกรมการข้าว ถือว่าผลผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้นครึ่งต่อครึ่ง รายได้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้านนายพิทยา คำมา  เกษตรกรปราดเปรื่อง ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม  เล่าว่า ก่อนที่ตนจะมาเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องดังเช่นทุกวันนี้  เดิมตนทำนาแบบรายเดี่ยว ซึ่งเกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่น ผลผลิตข้าวตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การขอรับการสนับสนุนค่อนข้างยาก เนื่องจากว่าการขอรับการสนับสนุนส่วนมากต้องเป็นรูปแบบกลุ่ม ทั้งเรื่องการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว การขาดแคลนปุ๋ย ตนและพี่น้องเกษตรกรในชุมชนจึงมีความคิดริเริ่มในการที่จะจัดตั้งเป็นกลุ่ม ในรูปแบบศูนย์ข้าวชุมชน ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี หลังจากที่เป็นศูนย์ข้าวชุมชน ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเจริญธรรม”อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ก็ได้มีสมาชิกสมัครเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนส่งผลให้กลุ่มขยายใหญ่ขึ้นในปัจจุบัน สำหรับศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ได้เข้ามาสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว และการจัดการแปลง ดูแลแปลง ตัดพันธุ์ปน เดินตัดรวงไหนสูงเกินไป รวงไหนเป็นพันธุ์ปน ต้องตัดออกให้หมด เก็บวัชพืชในแปลงนา ซึ่งใน 1 ฤดูกาลผลิต กลุ่มจะมีการตัดพันธุ์ปน ตรวจแปลง 3 รอบ เพื่อความแม่นยำ ไม่มีพันธุ์อื่นปะปน ข้าวก็จะได้คุณภาพและมีมาตรฐานตามที่กรมการข้าวกำหนด ซึ่งถือว่าการเข้ามารวมกลุ่มเป็นศูนย์ข้าวชุมชน และได้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องของตนนั้น ส่งผลดีทั้งต่อตนเองและสมาชิกกลุ่ม ทั้งด้านผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น รายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่า เมื่อมีการส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ที่มีความพร้อม ทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตชัดเจนเพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย