กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย ให้มีการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart farmer ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการทำการเกษตร สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร โดยเฉพาะการผลิตข้าวในปัจจุบัน กรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ก็ได้สนองนโยบาย โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนา การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรไทยพัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

นางวิภาวดี ทองเอก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง เป็นโครงการที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ความสามารถ เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรสมาชิกกลุ่ม สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการของศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี จะมีการคัดเลือกเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งในแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางศูนย์ฯได้เข้าไปส่งเสริมอยู่แล้วเพียงแต่เป็นการต่อยอดนำโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องเข้ามาเพื่อพัฒนากลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง มีตัวแทนเกษตรกรช่วยให้คำแนะนำและนำพาองค์ความรู้ด้านการผลิตข้าว ตั้งแต่การเตรียมดินก่อนปลูก การปลูก การดูแลแปลง การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และเกษตรกรปราดเปรื่องเองก็เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สามารถที่จะถ่ายทอดให้กับเกษตรกรสมาชิกในกลุ่มได้ดี หรือแม้แต่การไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศูนย์ข้าวชุมชนด้วยกันเอง ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรได้ และที่เห็นได้ชัด อีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อเกษตรกรที่ผ่านการอบรมเข้าสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง และการถ่ายทอดความรู้กันระหว่างเกษตรกรปราดเปรื่องกับเกษตรกรสมาชิกด้วยกันจะเกิดความเชื่อมั่นเนื่องจากว่ามีการสาธิตหรือปฏิบัติให้เห็นผลจริง เมื่อเกิดความเชื่อมั่นกลุ่มก็จะเกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นายประสงค์ คำวีระ ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลท่าช้าง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เล่าว่า ปัจจุบันนี้ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลท่าช้างมีสมาชิกทั้งหมด 23 ราย พื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 800 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวพันธุ์ กข79 ซึ่งเป็นข้าวที่ตลาดต้องการและราคา และผลผลิตข้าวสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งการทำนาของศูนย์ข้าวชุมชนตำบลท่าช้าง จะเน้นไปที่เรื่องการเตรียมดินก่อนปลูกและเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหลัก เรื่องดินถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการปลูกข้าว ทางกลุ่มจะมีการโน้มน้าว หรือชักชวนให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ให้เผาฟาง แล้วตอนนี้สมาชิกกลุ่มทุกรายไม่มีการเผาฟางเลย ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีการปลูกข้าวบนพื้นฐานการผลิตข้าวอย่างถูกวิธี ทั้งการใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม และระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสม ตามที่ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรีได้เข้ามาส่งเสริม ทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่สมาชิกของศูนย์ข้าวชุมชน เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์ขยาย และมีโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่อีกโครงการหนึ่งที่กลุ่มได้มีการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านข้าวและได้รับการสนับสนุนโรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้ทางกลุ่มมีความพร้อมในการผลิตข้าวและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ สู่เกษตรกรสมาชิกในกลุ่มและในชุมชนได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปข้าว และทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถต้นทุนการผลิตข้าว และเพิ่มกำไรให้แก่เกษตรกรมาขึ้นอีกด้วย 

ด้านนายรุจฒิชัย สีมีชัย ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้า ตำบลบ้านกลับ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า เดิมตนเป็นปราชญ์ชาวบ้านอยู่แล้ว ทั้งด้านการทำนาและเกษตรผสมผสานอยู่แล้ว ทางศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี จึงได้เข้ามาส่งเสริมต่อยอดให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องประจำอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ถือเป็นการนำพาหรือขยายองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาวิธีเดิมๆ ใช้สารเคมี ผลผลิตตกต่ำ ข้าวไม่มีคุณภาพ ไม่มีกำลังต่อรองราคาข้าวกับพ่อค้าคนกลาง เมื่อได้รับการส่งเสริมจากศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี กลุ่มก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการทำนาตามคำแนะนำ และตนได้นำองค์ความรู้จากการเป็นคนรุ่นใหม่และมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาถ่ายทอดให้แก่ในพื้นที่เริ่มค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการทำนามาตลอด จนปัจจุบันสามารถทำให้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย  และทางกลุ่มก็มีความเข้มแข็งตามไปด้วย 

“ผมอยากให้เกษตรกรเราดำเนินวิถีชีวิตที่นำเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาโดยมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นรถแทรกเตอร์ที่ทางกลุ่มเราได้มานะครับ เข้ามาช่วยลดต้นทุนในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นโดรนในการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ เพื่อที่กลุ่มจะได้เกิดการพัฒนา และต่อยอดให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้นในอนาคต”นายรุจฒิชัย กล่าว

ถือได้ว่าเกษตรกรปราดเปรื่องทั้ง 2 ท่าน เป็นเกษตรกรต้นแบบของความเข้มแข็งแก่สมาชิกได้อย่างเข้มแข็ง สามารถกระจายองค์ความรู้ด้านการผลิตข้าวสู่สมาชิกได้อย่างครบวงจร ทั้งการปลูก การจัดการแปลง การเก็บเกี่ยว การแปรรูปข้าว การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนต่อยอดสู่ด้านการตลาดข้าว ส่งผลให้กลุ่ม มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิตข้าว เพิ่มกำไร และมีความมั่นคงอีกด้วย