การดำเนินงานโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (1 ล้านไร่) โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ กรมการข้าว มีการดูแล ให้คำแนะนำเกษตรกร ส่งเสริมให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตรงตามมาตรฐาน Organic Thailand สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายประพจน์ พรหมฟัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (1 ล้านไร่) หนึ่งในโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเป็นการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ ลดการใช้เคมีในการปลูก ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น ข้าวอินทรีย์เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคแมลง และสัตว์ศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีในการรมยาเพื่อป้องกันแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ และที่สำคัญคือปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ส่วนนี้คือข้อดีของการทำเกษตรอินทรีย์ โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ได้ดำเนินการอยู่ที่จังหวัดลำพูน มีเกษตรกรหลายกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ อย่างกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ตำบลป่าสัก ที่สามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้ 100% มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน

กลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สามารถผลิตข้าวอินทรีย์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2560 และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวปลอดภัยตำบลป่าสัก ในปี 2562 ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยเริ่มจากการจัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มผู้ผลิตข้าวปลอดภัยตำบลป่าสัก และต่อมาได้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ เมื่อปี 2561 ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ กรมการข้าว ปัจจุบันสมาชิกกลุ่ม มีจำนวนทั้งสิ้น 15 ราย พื้นที่ 102.5 ไร่

นายโกวิท ใหม่ตั้ง ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์ ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เล่าว่าศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ได้เข้ามาแนะนำ ให้องค์ความรู้ ส่งเสริมในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดเก็บเอกสาร การทำมาตรฐานของกลุ่ม เกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น เรื่องแนวกันชนระบบความสะอาดของน้ำ หรือพื้นที่โดยรอบ ต่อมาเราก็ได้เรียนรู้และพัฒนากันจนปัจจุบันกลุ่มของเราได้รับมาตรฐาน Organic Thailand ทำให้มีรายได้มากขึ้นจากการทำเกษตรอินทรีย์ ตลาดกว้างขึ้นและแน่นอน ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด 

“จากการทำนารูปแบบเดิม สู่การทำนาแบบอินทรีย์ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนที่ลดลง รายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาขายสูงกว่าเดิม 3 เท่า และมีตลาดรองรับอย่างแน่นอน แต่ที่เห็นได้ชัดเลยคือ เรามีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถมั่นใจกับผลิตภัณฑ์ของเราได้” นายโกวิท กล่าว