นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ จำเป็นต้องส่งเสริมวิชาการความรู้ เพื่อพร้อมเป็นผู้นำในด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงดูแลมาตรฐานต่างๆ โดย สถาบันมะเร็ง สถาบันเด็ก สถาบันเกี่ยวกับประสาทวิทยา สถาบันเกี่ยวกับการรักษาผู้ติดยาเสพติด สถาบันผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลเรื่องเกี่ยวกับกายภาพบำบัด ภายใต้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ มีการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์
ทั้งยังมีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางที่กรมการแพทย์ เช่น โรคผิวหนังโดยสถาบันผิวหนัง รวมถึงสถาบันทางการแพทย์ต่างๆที่พร้อมดูแลเรื่องโรคเฉพาะทางให้กับประเทศ โดยเฉพาะเชิงวิชาการและนวัตกรรม เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งดำเนินการด้านวิชาการควบคู่กับด้านการเรียนการสอน
“กัญชา”เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ โดยกรมการแพทย์จะนำสารสกัดจากกัญชาส่วนที่เรียกว่า CBD และ THC มาใช้รักษาโรค เช่น โรคกล้ามเนื้อหดเกร็ง ซึ่งมีอาการชักกระตุกและเจ็บปวดมาก บรรเทาอาการปวดประสาทส่วนกลางซึ่งรักษาด้วยยาปกติแล้วไม่ได้ผล รวมถึงภาวะคลื่นไส้อาเจียนของคนที่ทำเคมีบำบัด และช่วยกระตุ้นให้อยากอาหารในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำซึ่งรับประทานอาหารได้น้อย เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย สามารถใช้กัญชาแทนมอร์ฟีนเพื่อลดการเจ็บปวดได้โดยไม่ต้องนอนหลับอย่างเดียวเหมือนการใช้มอร์ฟีน ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวมากขึ้น รวมถึงช่วยรักษาโรคความจำเสื่อมและโรคพาร์กินสัน
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า สารสกัดจากกัญชายังช่วยรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดประเภทรุนแรง เช่น ยาบ้า เฮโรอีน ซึ่งกรมการแพทย์กำลังทำวิจัยอยู่ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น เพื่อนำสาร CBD ไปรักษาผู้ป่วยที่ติดยาบ้า รวมถึงการทำวิจัยที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ เพื่อนำสาร CBD รักษาผู้ป่วยที่ติดเฮโรอีนและฝิ่น เนื่องจากทั้งยาบ้าและเฮโรอีนมีการออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทรุนแรง ก่อเกิดอาชญากรรมและปัญหาสังคม แต่ยังไม่พบผู้สูบกัญชามีความประพฤติส่อไปในทางทำร้ายผู้ใด และจากข้อมูลพบว่า สาร CBD ที่สกัดจากกัญชา สามารถช่วยลดการใช้ยาบ้าและเฮโรอีนได้ ซึ่งแต่เดิมต้องนำเข้ายาที่มีสารสกัดจากฝิ่นในการรักษา แต่ปัจจุบันสามารถใช้สารสกัด CBD จากกัญชาทดแทนได้
ส่วนกรณีผลกระทบจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้ ซึ่งเหมือนกับยารักษาโรคทุกชนิด ผู้ใช้สามารถแพ้ได้ โดยจะมีอาการมึน วิงเวียน ยกตัวอย่าง ในปี 2562 เริ่มอนุญาตให้มีน้ำมันกัญชาถูกกฎหมายเกิดขึ้น แต่หลายคนไม่ทราบวิธีการใช้ รวมถึงมีการใช้ปริมาณมากเกินกำหนด จึงทำให้มีอาการมึน แต่ไม่พบการเสียชีวิตหรือป่วยรุนแรง ซึ่งสารที่ทำให้มึนคือ THC พบในช่อดอกของกัญชา ทั้งนี้ จากการประเมินติดตามหลังจากกัญชาถูกถอดออกจากยาเสพติด พบว่า ช่วงแรกมีผู้เกิดอาการแพ้มารักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายราย จนกระทั่งเวลาผ่านไป ประชาชนเริ่มทราบวิธีการใช้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้เข้ารักษาอาการแพ้ในโรงพยาบาลลดลงเป็นปกติ
“ปัญหาหลักของการใช้กัญชาคือ ใช้โดยผิดเจตนา ผิดวิธีการ และผิดปริมาณ ซึ่งไม่ตรงวัตถุประสงค์ในการใช้ เนื่องจากยารักษาโรคทุกชนิดหากใช้ผิดเจตนาจะเกิดปัญหาทั้งหมด เช่นเดียวกับสารสกัดจากกัญชา ทั้งสาร THC และ CBD ถูกสกัดออกมาเพื่อใช้รักษาโรค โดยเฉพาะสาร CBD ไม่ทำให้ติดหรือมีอาการทางประสาทใดๆ ต่างจากสาร THC จากส่วนช่อดอกอาจทำให้มึน สิ่งสำคัญคือวัตถุประสงค์ในการใช้ โดยส่วนมากผู้ที่มีผลกระทบจากการใช้กัญชาเกิดจากการใช้น้ำมันกัญชาชนิดหยอด เพื่อให้นอนหลับ โดยไม่เข้าใจว่าการหยอดต้องใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีกว่ายาจะออกฤทธิ์ แต่บางรายคิดว่าหยอดไปแล้วทำไมยังไม่หลับจึงหยอดซ้ำจนมากเกินควร ทำให้มีสารสะสมในร่างกายมาก เมื่อถึงเวลาออกฤทธิ์พร้อมกันจึงเกิดผลกระทบในที่สุด” นพ.ธงชัย กล่าวในตอนท้าย