พม. จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เร่งตรวจสอบสถานรองรับเด็กทั่วประเทศ ยึดประโยชน์สูงสุดของเด็ก  เน้นมาตรฐานความปลอดภัย มีพัฒนาการที่เหมาะสม 


วันนี้ (15 พ.ย. 65) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ  นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มอบหมายให้กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบการดำเนินงานของสถานรองรับเด็กทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานและกฎหมายที่กำหนด โดยตนได้สั่งการให้กระทรวง พม. โดยปลัดกระทรวง พม. (นายอนุกูล ปีดแก้ว) ดำเนินการสำรวจจำนวนและสถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กของสถานรองรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - 2569) เรื่องการสนับสนุนการดำเนินงานการกำกับติดตามและประเมินผลการเลี้ยงดูทดแทนที่เป็นทางการ 


นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของสถานรองรับเอกชน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ทีม One Home พม. จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการตามแนวทาง โดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กร่วมกับรัฐ มุ่งเน้นการดูแลเด็กให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานรองรับเอกชนมีความสามารถในการดูแลเด็ก ซึ่งหากทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายหรือพัฒนาการที่ไม่เหมาะสม ภาครัฐต้องเข้าไปให้การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก 


นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุมได้ให้กระทรวง พม. ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดและคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้ 1) จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและสื่อสารเพื่อให้สถานรองรับเด็กเอกชนเลี้ยงดูเด็กได้ตามมาตรฐานและกฎหมาย 2) สำรวจจำนวนและสถานการณ์ของสถานรองรับเด็กเอกชนที่รับใบอนุญาตและไม่ได้รับใบอนุญาต พร้อมทั้งส่งเสริมการขอจัดตั้งเป็นสถานรองรับเด็กเอกชนตามกฎหมายหรือจดแจ้ง เพื่อเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ 3) จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรและสถานรองรับเด็ก 4) กำหนดกลไกการติดตามการดำเนินงาน โดยทีมสหวิชาชีพของจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และ 5) จัดให้มีระบบสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ 


นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ตนได้เน้นย้ำว่า รัฐต้องเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และตรวจสอบสถานรองรับเด็กเอกชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็กได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน ด้วยเป้าหมายคือ ให้เด็กได้รับการดูแลที่มีความปลอดภัยและมีพัฒนาการที่เหมาะสม โดยยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ