แพทย์มหิดล แนะ ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่น “Thai CV Risk Score” ประเมินความเสี่ยงร่างกายเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และ เบาหวาน ชี้ การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี ช่วยลดภาวะการเกิดโรค
เกาะติดการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซค์ ที่ยังคงมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปปฏิบัติและดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง รวมทั้งดูแลบุคคลใกล้ชิดให้ปลอดภัยจากโรค
โดยการอบรมในสัปดาห์นี้ มีการบรรยายในหัวข้อ “ การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาวะโรคต่างๆ ” ก่อนที่จะให้ผู้เข้าอบรมร่วมกิจกรรม Workshop ด็อกเตอร์เวทสินี แก้วขันตี อาจารย์คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกายต้องมีการประเมินร่างกายประเมินสุขภาพมีความเสี่ยงต่อสภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวานหรือไม่ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถทำการทดสอบความเสี่ยงคัดกรองสภาวะโรคต่างๆได้ โดยใช้แอพพลิเคชั่น “Thai CV Risk Score” ของโรงพยาบาลรามา
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าว ได้ใช้แบบสำรวจประชากร เช่น อายุ เพศ ตัวเลขค่าเบาหวาน ค่าความดัน จากนั้น แอพพลิเคชั่นจะประเมินความเสี่ยงต่อสภาวะโรคหัวใจ กล่าวคือ การวัดค่าความดันปกติ คือ ตัวบนต้องน้อยกว่า 120 ส่วนตัวล่างต้องน้อยกว่า 80 หากเกินกว่าปกติ เช่น ความดันตัวบน 140-150 และตัวล่าง 90-99 ต้องได้รับการรักษาทานยาภาวะความดันโลหิตสูง ส่วนชีพจรอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าปกติควรอยู่ที่ 60 -100 นาที
นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ สามารถทำหลายวิธี เช่น การวัดรอบเอว การวัดรอบสะโพก การวัดไขมันในร่างกาย และ แรงบีบมือ เพื่อเชกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม การคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน สามารถใช้วิธีการตอบแบบประเมินความพร้อมต่อการมีกิจกรรมทางกาย PAR Q โดยตอบคำถาม 7 ข้อ
ด็อกเตอร์เวทสินี กล่าวต่อว่า วิธีการดูแลร่างกายเพื่อช่วยป้องกันและลดความดันโลหิตสูง ควรใช้วิธีลดน้ำหนัก ลดการรับประทานอาหารรสจัด รสเค็ม เพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยการออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และกินยารักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นประจำทุกวันทุกเวลา
ส่วนโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อลดความดันโลหิตสูง ควรออกกำลังกายวันเว้นวัน หรือ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ระยะเวลาออกกำลังกาย 10-45 นาที เช่น เต้นแอโรบิค เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ชกมวย หากพบความผิดปกติขณะออกกำลังหาย เช่น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง 240 -110 แน่นหน้าอก มีอาการเหนื่อยล้า วิงเวียนศีรษะ ควรหยุดการออกกำลังกายทันที
สำหรับการประเมินความเสี่ยงต่อสภาวะโรคเบาหวาน ต้องใช้วิธีเจาะเลือดหลังงดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมง หากพบว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 mg/dj มีอาการตัวสั่น เหงื่อออก วิงเวียนศีรษะ มองภาพไม่ชัด อารมณ์เหวี่ยง ควรหยุดออกกำลังกาย และใช้วิธีอมลูกอมอย่างน้อย 3 เม็ด ดื่มน้ำแดงเฮล์บลูบอย รับประทานอินทผาลัม และดื่มน้ำผลไม้ เพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
ส่วนโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน ควรออกกำลังกายวันเว้นวัน หรือ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ระยะเวลาออกกำลังกายอย่างน้อย 10 นาที วันละ 30 นาที ถ้าต้องการลดน้ำหนักควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที เน้นการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว
ด็อกเตอร์เอกรัตน์ อ่อนน้อม วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล ต้องรู้สมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดย 5 ส่วนประกอบของร่างกายต้องมีความสมส่วน คือ มวลกล้ามเนื้อ เปอร์เซนต์ไขมันในร่างกาย ความแข็งแรงของมวลกระดูก ระบบการหายใจ และ น้ำในร่างกาย
ทั้งนี้ โปรแกรมการออกกำลังกายต้องใช้หลัก FITT ประกอบด้วย Frequency ความถี่ในการออกกำลังกาย Intensity ความหนักในการออกกำลังกาย Time ระยะเวลาในการออกกำลังกายที่ต้องควบคุมความแรง และ Type รูปแบบหรือชนิดของการออกกำลังกาย
สอดคล้องกับ อาจารย์เพ็ญสินี พนาสิริวงศ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแนะนำว่า ก่อนที่จะเริ่มการออกกำลังกายต้องมีการสำรวจตัวเอง โดยใช้วิธีการวัดชีพจรที่ข้อมือ หรือ ซอกคอ ใช้เวลา 1 นาที ทั้งนี้ การคำนวณชีพจรอย่างละเอียดเหมาะสำหรับผู้ที่มีสภาวะโรคต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอันตรายขณะออกกำลังกาย
ทั้งนี้ องค์ประกอบของการออกกำลังกาย ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกายต้องเริ่มวอร์อัพร่างกายเพื่อกระตุ้นให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้น ด้วยวิธียืด เหยียดกล้ามเนื้อ จากนั้น ออกกำลังกายเป็นระยะเวลา 30 นาที เมื่อครบระยะเวลาให้เริ่มผ่อนเบา ลดความหนักในการออกกำลังกาย และใช้วิธียืด เหยียดกล้ามเนื้ออีกครั้งเพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ กล่าวสรุป คือ การออกกำลังกายเปรียบเสมือนเป็นยา หากออกกำลังกายอย่างถูกต้องและทำตามกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันและลดการเกิดอาการบาดเจ็บขณะออกกำลังกาย.