วันที่ 14 พ.ย. 65 นพ.ศุภภิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยถึงกรณีศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กให้เฝ้าระวังโควิด 19 สายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน XBC” ซึ่งมาจากเดลตาและโอมิครอน BA.2 พบการระบาดในฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย และกลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1 ว่า การพบโควิดสายพันธุ์ XBC ขณะนี้ยังมีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะระบุว่า มีความรุนแรงหรือแพร่เชื้อเร็วขึ้นอย่างไร เป็นเพียงการคาดการณ์จากผลทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่า อาจจะรุนแรงเท่าเดลตา ความเร็วเท่าโอมิครอน แต่จำนวนที่พบตอนนี้ยังไม่มาก ส่วนความกังวลว่าฟิลิปปินส์เจอ XBC แล้วจะระบาดมาไทย เพราะประเทศใกล้กัน ต้องเรียนว่า ขณะนี้มีการเดินทางเปิดประเทศกันแล้ว เป็นเรื่องที่สามารถเจอได้ ทำนองเดียวกับที่เราเจอ XBB แต่กรมวิทย์มีระบบการตรวจคัดกรองสายพันธุ์โควิด เมื่อตรวจเจอก็จะส่งข้อมูลไปยัง GISAID

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า "ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่พบ XBC ในไทย ส่วนที่รายงานข่าวว่าไทยยังไม่พบโอมิครอน XBB นั้น เรียนว่า กรมวิทย์รายงานไปตั้งแต่ช่วงเดือนที่แล้วว่า ไทยเราเจอ XBB แล้ว ย้ำว่าในแต่ละภูมิภาคมีความชุกชุมของโรคไม่เท่ากัน อย่างอเมริกาหรือยุโรป จะเจอ BQ.1 BQ.1.1 แต่โซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเจอ BA.2.75 และ XBB เป็นต้น แน่นอนว่าเมื่อมีการเดินทางก็จะเจอเชื้อในแต่ละภูมิภาค" 

"สำหรับ XBC เรายังไม่เห็นสัญญาณความรุนแรง แต่ประเด็นที่อยากให้เห็น คือ วัคซีนโควิด 19 ที่ฉีดกันมา 4-5 เข็ม ภูมิคุ้มกันที่ได้อาจมีค่าไตเตอร์สู้กับโอมิครอนรุ่นหลังๆ ได้น้อยลง แต่กับรุ่นเก่า เช่น เดลตา อัลฟา ยังได้ผลดี ดังนั้น การตั้งสมมติฐานว่าความรุนแรงเท่าเดลตาจริง แต่ถ้ามาเจอวัคซีนก็ป้องกันได้ เพราะภูมิยังสู้กับเชื้อเก่าๆ ได้ ดังนั้น ที่เห็นติดเชื้อเยอะ แต่ก็ไม่มีผู้ป่วยหนักมากขึ้น สำหรับประเทศไทยขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอน BA.5 ยังพบมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่า BA.2.75 ที่เคยรายงานมาก่อนหน้านี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่จะเร็วแค่ไหนต้องรอข้อมูลรายสัปดาห์มาเทียบสัดส่วน" นพ.ศุภกิจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราก็ตรวจพบสายพันธุ์ต่างๆ มาตลอด มีรายงานตลอด แต่ตอนนี้ยังไม่พบในไทย