วันที่ 14 พ.ย.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุข้อความว่า ...
การระบาดของไข้หวัดใหญ่เกิดตามฤดูกาล โดยจะขึ้นสูงสุดช่วงฤดูหนาว ภาพนี้แสดงให้เห็นแนวโน้มของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเปรียบเทียบแต่ละปี เก็บข้อมูลโดย Johns Hopkins University จุดที่น่าสนใจที่สุดคือเส้นสีส้ม กับ สีแดง คือ จำนวนผู้ป่วยที่พบเมื่อปีที่แล้ว เทียบกับ จำนวนที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ ข้อมูลออกมาชัดเจนว่า แนวโน้มการระบาดจะมาไวกว่าและขึ้นสูงกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา ยังไม่มีแนวโน้มจะเห็นจุดหักหัวลงของเส้นสีแดง เพราะจังหวะที่การระบาดจะ peak คงต้องรอจนถึงช่วงหลังปีใหม่ไป ถึงตอนนั้นคงต้องดูข้อมูลว่าจุดสูงสุดไปได้ถึงแค่ไหน
เมื่อวิเคราะห์เทียบกับเส้นสีส้ม อาจจะพออธิบายสาเหตุของการระบาดที่เกิดขึ้นได้ว่า ในช่วงปีที่แล้วการระบาดของไข้หวัดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่พบ การติดเชื้อของไวรัสตามธรรมชาติจึงลดลงส่งผลให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันที่ควรเกิดขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติลดลงด้วย เด็กๆที่ไม่เคยติดจะมีเยอะขึ้น ผู้ใหญ่ที่ภูมิลดลงจากการที่ไม่ได้สัมผัสกับเชื้อมานานขึ้นก็จะเพิ่มขึ้น เป็นสภาวะที่เหมาะสมทำให้ไวรัสมีพื้นที่ในการแพร่กระจายตัวเองได้...พอภูมิของประชากรกลับมาเป็นปกติ ก็จะเข้าสู่วงรอบเดิม
มีบางคนใช้คำว่า immunity debt เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมามีมาตรการต่างๆทำให้สูญเสียโอกาสการสัมผัสเชื้ออื่นๆตามธรรมชาติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันที่เคยมีต่อเชื้อเหล่านั้นถูกทำลายไป หรือ การติดเชื้อโควิดทำให้ภูมิคุ้มกันที่มีต่อไข้หวัดใหญ่เสียไป ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน หรือ ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ...ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ถ้ามีแล้ว ร่างกายจะจำแล้วจำเลย ไม่มีอะไรมา reformat ความจำนั้นได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลา boost นานขึ้นเพราะไม่ได้ใช้งานความจำส่วนนั้นนาน
***ประเด็นสำคัญคือ เส้นสีแดงในกราฟสามารถทำให้หักหัวลง หรือ ชะลอได้ด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็นมากในปีนี้นะครับ
https://www.nature.com/articles/d41586-022-03666-9