วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)แก้ไขหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่ไม่ให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยศึกษาในรูปแบบการจัดโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ซึ่งขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็ก จะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมาก

นายสุรพงษ์กล่าวว่า สพฐ ได้มีหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ว่าการจัดการศึกษา ผู้เรียนต้องมีสัญชาติไทย ทำให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเข้าเรียนโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล หากจะเรียนต้องไปเรียนด้วยวิธีการอื่น โดยอ้างว่าเป็นไปตามมติที่ประชุมของสภาการศึกษาแห่งชาตินั้น ทั้งสพฐ.และสภาการศึกษาแห่งชาติกำลังทำผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็ก เนื่องจากเดิมประเทศไทยเน้นจัดการศึกษาให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย แต่ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถเข้าเรียนได้ โดยไม่จำกัดระดับประเภทหรือพื้นที่การศึกษา และครอบคลุมถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือไม่มีสัญชาติไทย และจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวแก่สถานศึกษา ในอัตราเดียวกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย โดยมีเหตุผลว่าการลงทุนจัดการศึกษาเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด

ที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า ศธ.ได้ออกเป็นระเบียบว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 เพื่อเป็นการเปิดโอกาสแก่บุคคลให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องรับเด็กทุกคนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียน และระบุว่าสถานศึกษาที่อยู่ในบังคับของระเบียบ รวมถึงหน่วยงานของเอกชนที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ซึ่งการเรียนโดยครอบครัวหรือบ้านเรียนหรือโฮมสคูล ก็อยู่ในระเบียบนี้ด้วยเช่นกัน

“ตั้งแต่ปี 2548 ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนอย่างเสมอภาค หรือ Education for all ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศและองค์การสหประชาชาติถึงความก้าวหน้าของการจัดการศึกษา แม้จนปี 2559 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. ที่ 28/2559 ที่ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แก่ทุกคน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมทางสังคม แก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 จะลดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานลงมาเหลือ 12 ปีถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ก็ไม่มีการออกประกาศยกเลิกคำสั่งคสช.ฉบับนี้ ทำให้คำสั่งคสช.ฉบับนี้ยังมีผลบังคับเหนือรัฐธรรมนูญ”นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ศธ.เข้ามาตรวจสอบเรื่องที่สพฐ.ออกหนังสือขัดต่อกฎหมายและนโยบาย อันเป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทย ตลอดจนเข้าส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดเงินอุดหนุนการศึกษารายหัวให้แก่การศึกษาโดยครอบครัวด้วย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นการศึกษา Education for all อย่างแท้จริง

นางธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย(สกล) กล่าวว่า สพฐ.ได้ออกเป็นแนวปฎิบัติหรือคู่มือให้เจ้าหน้าที่ใหม่ซึ่งละเมิดด้านการศึกษาโดยเฉพาะศูนย์การเรียนโดยอ้างว่าการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีกติการะหว่างประเทศให้การศึกษาเด็กที่ประสบปัญหาสัญชาติอย่างเหมาะสม แต่สพฐ.แจ้งว่าจัดให้เด็กต่างด้าวไม่ได้และไปแก้ไขคู่มือครั้งที่ 2 เขียนชัดว่าศูนย์การเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ได้

“ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ การที่เขาออกกติกาแบบนี้ ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่พูดคุยกับ ก.ศึกษามาแล้วว่าจัดการศึกษาเสมอภาคโรงเรียน จัดให้ทั้งเด็กปกติและไม่มีสัญชาติ ทำให้สำนักงานเขตบางแห่งไม่อนุญาตให้จัดศูนย์การเรียนขึ้นมาใหม่ ตอนนี้เรามีศูนย์การเรียนเกือบ 200 แห่ง ซึ่งหลายแห่งเขตการศึกษาเขาก็ยังทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนได้ด้วยดี เขาไม่สนใจแนวปฏิบัติใหม่ของสพฐ. ส่วนโฮมสคูลพ่อแม่ไม่สามารถใช้อำนาจมอบหมายให้คนอื่นจัดการศึกษาให้ลูกที่ไร้สัญชาติได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก”นางธรรณพร กล่าว

รองเลขาธิการ สกล.กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนในเรื่องสิทธิการศึกษาไม่ให้มีความเสมอภาคตามมาตรา 12 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นการจำกัดสิทธิและโอ กาสในการที่เด็กประเภทต่างๆควรได้รับการศึกษา เมื่อก่อนเราสังเกตว่า สพฐ.ไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ว่าเราใช้บริบทครอบครัว ชุมชนมาใช้ในการจัดการศึกษา ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น จนต้องมีการวิจัยครั้งใหญ่จนพบว่าการเช่นนั้นขัดแย้งกับการจัดการศึกษาแห่งชาติ ซึ่ง สพฐ.เองก็ตกใจว่าขัดแย้งกฏหมาย จนต้องเชิญผู้แทนสมาคมฯเข้าไปร่วมหารือและร่วมร่างหลักเกณฑ์ เอาผลการเรียนรู้นอกห้องเรียนมารวมหรือมาร่วมประเมินได้ แต่ครั้งนี้ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นอีก