กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานการส่งเสริมและพัฒนาควายไทย ในรูปแบบ Focus Group เพื่อนำข้อมูลไปทบทวน การยกร่างยุทธศาสตร์ควายไทย 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)
วันที่ 13 พ.ย.65 ที่นครนายก นางสาวรักษิณา สัตย์ชาพงษ์หัวหน้ากลุ่มกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายนิธิศ จิตนิยม นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมฯ ปศุสัตว์จังหวัดนครนายก พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์นครนายก ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานการส่งเสริมและพัฒนาควายไทย ณ "ฟาร์ม เทพมงคล ควายไทยพัฒนา" หมู่ 10 ต.ป่าขะ อ.บ้านนา จ.นครนายก ซึ่งเป็นฟาร์มของนายสุเทพ มั่งคง อายุ 42 ปี เจ้าของฟาร์มซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังพัฒนาพันธุ์ควายไทยสวยงามในจังหวัดนครนายก ด้วยกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ มีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาควายไทยและได้ดำเนินการยุทธศาสตร์ควายไทยมาโดยตลอด ได้ประสานความร่วมมือ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาควายไทยแบบบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน องค์กรต่างๆ กลุ่มการเกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์จากควายไทยให้มากขึ้นและครบวงจร และในการลงพื้นที่ "ฟาร์ม เทพมงคล ควายไทยพัฒนา"และ "ฟาร์ม เพ็ชร ฐากูรย์ ควายไทย นางฟ้ากาสร (ครูเบล)" เพื่อศึกษาดูการพัฒนาการเลี้ยงควายแบบประณีต การพัฒนาต่อยอดในการผสมพันธุ์ด้วยน้ำเชื้อควายพันธุ์ดี และการพัฒนาต่อยอดเป็นควายสวยงามที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ควายนครนายก
ทางด้าน นายสุเทพ มั่งคง เจ้าของฟาร์ม ได้เล่าให้ฟังว่าตนเองเป็นเกษตรกรรายใหม่ที่ชอบในความสวยงามของควายไทยจึงได้หันกลับมาพัฒนาควายไทยในพื้นที่จังหวัดนครนายก ให้เป็นแหล่งผลิตควายพันธุ์ดีในภูมิภาคตะวันออก ปรับเปลี่ยนวิถีการเลี้ยงควายสู่ระบบธุรกิจมีมาตรฐานการเลี้ยง การใช้ประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ และสืบสานอัตลักษณ์ควายประจำถิ่นจังหวัดนครนายกสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตและดำเนินการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงควายของจังหวัดนครนายกให้มีความเข้มแข็งในกระบวนการเลี้ยงควายตลอดห่วงโซ่การผลิตขับเคลื่อนแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรกับภาคส่วนราชการ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงควายการกำหนดโมเดลรูปแบบการเลี้ยงควายการพัฒนาพืชอาหารสัตว์คุณภาพเพื่อการเลี้ยงควายและการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ควายที่มีคุณภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาดควายงามและควายเนื้อเชิงธุรกิจ สานต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรรูปแบบวิถีคน วิถีควายให้ยั่งยืนต่อไป