“องค์การอนามัยโลก” ชื่นชม “ไทย” ยกเป็น “แชมป์” ด้านสาธารณสุข เปิดกว้าง เปิดใจ ให้หน่วยงานสากล ประเมินความเข้มแข็งด้านสุขภาพ ขอร่วมมือ WHO ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขโลกต่อไป ด้าน “อนุทิน” ปลื้ม หลัง “ผอ.อนามัยโลก” ส่งข้อความส่วนตัว “ด้วยความซาบซึ้ง” พาไทยเข้าระบบประเมิน WHO
วันที่ 13 พ.ย.65 นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวระบุว่า ล่าสุด ประเทศไทย เพิ่งได้รับข่าวดี เมื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับหนังสือจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO โดยนายแพทย์เท็ดรอส อันฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื้อความด้านในระบุว่า...
ขอบคุณประเทศไทย ในฐานะ “แชมป์เปี้ยน” ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุข ไปจนถึงการวางระบบดูแลสุขภาพประชาชนแบบถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review (UHPR)) ไว้อย่างยอดเยี่ยม และนับตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้กลายมาเป็นประเทศนำร่องด้านการวางระบบสุขภาพ ที่น่าชื่นชม นี่คือหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลก และเป็นประเทศแรกของอาเซียน ที่เปิดกว้างให้หน่วยงานสากลเข้ามาประเมิน เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการยกระบบสาธารณสุขทั่วโลก สำหรับจุดเด่นของประเทศไทย ซึ่งเราได้รับรายงานมาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ประกอบไปด้วย
1.ระบบการประสานงานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง 2.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยอดเยี่ยม บนรากฐานที่เข็มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ไปจนถึง 3.การสนับสนุนงาน โดยผู้บริหาร ระดับต่างๆ และความทุ่มเทอุทิศตนของคนทำงานในภาคส่วน ที่ร่วมแรงร่วมกันปฏิบัติภารกิจ ทุกอย่างขับเคลื่อนสอดประสานกัน เพื่อรักษาชีวิตประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมไปถึงการวางกฎ ตีกรอบด้านภาษี เพื่อดูแลเรื่องการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในปีนี้ การประชุมด้านสุขภาพ สำนักงานเลขาธิการ ให้ความสำคัญในเรื่องของการทบทวน การเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) ที่ทุกประเทศสมาชิกต่างให้ความสำคัญ เพื่อร่วมกันออกแบบการพัฒนางานสาธารณสุข สำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ ไปจนถึงการรับมือ เหตุไม่คาดฝัน และความยืดหยุ่น ต่อสถานการณ์สาธารณสุข ทั้งหมดได้มาโดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ ไทย และอีก 3 ชาติ ที่ให้องค์การอนามัยโลก ได้เข้ามาศึกษาระบบสุขภาพที่
“ขอให้ไทยรักษาความเป็นเลิศด้านสาธารณสุข ในฐานะของแชมป์เปี้ยนต่อไป และขอให้ประเทศไทยยังคงร่วมโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิก WHO ประสบการณ์ใหม่ๆ จากทุกประเทศนำร่อง จะส่งต่อถึงประเทศไทย และทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขร่วมกัน”
นายพลพีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือความสามารถในการจัดการวิกฤติสาธารณสุข ช่วงที่มีโควิด 19 ระบาด ซึ่งไทย ได้รับการยกย่องว่าทีมผู้บริหารนับตั้งแต่รัฐมนตรีลงมา มีการตัดสินใจรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างดี เท่าทันสถานการณ์ และเข้าใจความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ มาจากความโปร่งใสในการถ่ายทอดข้อมูล และประสบการณ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข เคยจัดการกับโรคระบาดมาก่อนหน้านี้ เป็นบทเรียนที่พร้อมถูกปรับใช้อยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งหวัง ในการดูแลชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ ที่สำคัญคือ ความมุ่งมั่นทำงานของฝ่ายปฏิบัติงาน แพทย์ พยาบาล นักเทคนิกการแพทย์ อสม. ที่อุทิศตนอย่างหนัก เพื่อประคองระบบให้อยู่รอดมาได้ เช่นเดียวกับ ความเสียสละของภาคประชาชน ซึ่งต้องไม่ลืมขอบคุณ กับการให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ เหล่านี้ คือสิ่งที่เราพร้อมถ่ายทอดให้โลกได้เรียนรู้ เป็นประสบการณ์ ว่าทำไม ไทยถึงเป็นประเทศ ซึ่งไม่ใหญ่โต แต่กลับติดท็อปเท็นของโลก ประเทศที่มีระบบสุขภาพยอดเยี่ยมที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือดังกล่าว มีข้อความส่วนตัวจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ถึง นายอนุทิน ว่า “with much gratitude” แปลเป็นไทยว่า “ด้วยความซาบซึ้ง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีของบุคคลทั้งสอง
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา WHO เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมฯ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและทีมประเทศไทย
พบว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด 19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง โดยพบปัจจัยสำคัญ คือ 1.มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ 2.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ 3.มีความร่วมมือเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา รวมถึง อสม. 4.มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน และ 5.มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล