ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คอมมิวนิสต์คือพวกมองโลกสวย และยังสวยอยู่เสมอแม้โลกจริง ๆ จะโหดร้ายยิ่งนัก

บ้านเมืองหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 กับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แตกต่างกันเป็นคนละโลก ใน พ.ศ. 2516 อัมพรยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย บรรยากาศในโรงเรียนเหมือนจะถูกระเบิดออก จากที่เคยมืดมิดจากการครอบปิดด้วยความเป็นเผด็จการในโรงเรียน ก็กลายเป็นความแจ่มแจ้งสว่างจ้าด้วยเสรีภาพที่ฉายแสงออกมาจากมุมมืดนั้น โรงเรียนของอัมพรเป็นโรงเรียนชายล้วน จึงมีการแสดงออกที่ค่อนข้างจะดุเดือดรุนแรง กระทั่งพวกครูก็ยังต้องเงียบเสียง นักเรียนทุกคนไว้ผมยาว ที่จะมีสั้นหน่อยก็พวกที่เรียนรักษาดินแดน หรือ ร.ด. แต่ก็ไม่ได้ตัดสั้นเกรียนติดหนังหัว ยังคงเป็นทรงพุ่มผมหนา ๆ เหมือนรองทรงมากกว่า มีการเรียกร้องที่จะไม่เรียนวิชาโน้นวิชานี้ โดยเฉพาะวิชาวรรณคดีไทย เพราะมีแต่เรื่องของชนชั้นศักดินา “จักร ๆ วงศ์ๆ” หรือเรื่องประโลมโลก “ไร้สาระ” รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ไทย ที่มีแต่เรื่องราวของชนชั้นปกครอง ระบบไพร่ทาส และผลงานของกษัตริย์กับข้าราชการ

อัมพรยังจำได้ว่าเช้าวันหนึ่งตอนเปิดเทอมภาคปลาย อากาศวันนั้นค่อนข้างเย็น เขามาโรงเรียนทันเวลาเข้าแถวหน้าเสาธงพอดี ปกติก่อนเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 พวกครูจะใช้เป็นเวทีในการอบรม “สั่งสอน” พวกนักเรียนเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเอานักเรียนที่ทำผิดมาลงโทษประจานให้นักเรียนคนอื่น ๆ ไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง แม้แต่พวกที่มาสายก็จะถูกให้ยืนตากแดด และกล่าวประณามพฤติกรรมไปจนถึงความบกพร่องในการเลี้ยงดูของที่บ้าน แต่หลังที่เข้าสู่ยุค “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” นักเรียนนักศึกษาเป็นใหญ่ เวทีหน้าเสาธงก็กลายเป็นที่ “เอาคืน” ของเหล่านักเรียน วันนั้นที่ลานหน้าเสาธงมีกองไฟกองเล็ก ๆ ส่งควันโขมงขึ้นฟ้าไปตามแรงลม อัมพรคิดว่าบางทีพวกผู้นำนักเรียนที่ยุคนั้นได้ขึ้นยึดพื้นที่ไว้ได้ คงจะหนาวจึงจุดไฟกองนั้นขึ้น แต่เมื่อฟังคำพูดของนักเรียนคนที่เป็นพิธีกรในเช้านั้น ก็ทราบว่ามันคือหนังสือวรรณคดีและประวัติศาสตร์ไทยจำนวนหนึ่ง ที่มีการนำมาเผาประณาม ตอนแรกอัมพรก็ตกใจเพราะไม่คิดว่าจะมีใครกล้าเผาหนังสือ เพราะส่วนตัวของอัมพรก็เคยได้รับการอบรมจากพ่อแม่มาว่า หนังสือนั้นเป็น “ของสูง” ควรแก่การให้ความเคารพเสมอ แม้แต่เวลาที่เห็นวางอยู่บนพื้นก็ต้องเดินหลบเลี่ยงด้วยความนอบน้อมไม่ก้าวข้ามหรือกระทืบเท้าใส่ แต่พอได้ฟังพิธีกรคนนั้น “ประณามหนังสือ” อยู่ระยะหนึ่งก็เริ่มมีอารมณ์ร่วม เห็นคล้อยกับความเลวร้ายของหนังสือเหล่านั้น ที่ถูกให้ฉายาว่า “ยาพิษของสังคม”

ตอนที่อัมพรเข้าไปสอบเอนทรานซ์เพื่อจะเข้ามาหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2518 ยังเคยไปเดินแถว ๆ หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตอนนั้นได้กลายเป็น “ตลาดนัดสีแดง” คือมีการวางแผงขายของอยู่เต็มริมฟุตปาธไปตลอดแนวรั้วหมาวิทยาลัยด้านที่ติดกับสนามหลวง อ้อมมาจนถึงด้านตรงข้ามวัดมหาธาตุที่จะไปท่าพระจันทร์ โดยมีคนมาขายหนังสือ เสื้อผ้า และข้าวของที่เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ เช่น หนังสือสรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตุง วรรณกรรมเพื่อชีวิต เทปเพลงเพื่อชีวิต และของที่ระลึกต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากเสื้อยืดสกรีนภาพวีรบุรุษของคอมมิวนิสต์บางคนแล้ว เขาได้ซื้อหนังสือกวีนิพนธ์ของ “ปรมาจารย์ซ้าย” มาหลายเล่ม เพราะมีเพื่อน ๆ แนะนำให้อ่าน เมื่ออ่านแล้วก็รู้สึก “ซึมซับ” เกิดอารมณ์พลุ่งพล่าน อยากก่อการปฏิวัติ “พลิกแผ่นดิน” กับเขาไปด้วย และพอเขาสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย “ลูกโดม” นั้นได้แล้ว เขาก็ยิ่งรู้สึก “หัวใจพองคับเต็มอก” ที่จะได้เป็น “คนสีแดง” เต็มขั้น และมอบกายใจพร้อมกับให้สัจจะว่าจะขอเป็นคอมมิวนิสต์นั้นไปจนตลอดชีวิต !

เขาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข เหมือนกับว่าเขาได้เข้าไปอยู่ใน “โลกใบใหม่” ภายในรั้วเหลืองแดงมีแต่กิจกรรมของนักศึกษา เรียกว่า “งานมวลชน” ว่ากันว่าเป็นสาระสำคัญที่สุดของการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่การเรียนก็จะมีคนที่ชอบเรียนอยู่เป็นคน ๆ ซึ่งก็ได้เป็นที่พึ่งของเพื่อนในการลอกเลกเชอร์ หรือถ่ายสำเนาเอกสารที่เรียกตามยี่ห้อของมันว่า “ซีร็อกซ์” ซึ่งก็มีราคาแพงมากถึงแผ่นละ 3 บาท ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยวในโรงอาหารก็มีราคาพอๆ กัน ดังนั้นเพื่อนที่เป็นต้นสำเนาที่ไปเรียนมาก็จะต้องจดเลกเชอร์ให้ตัวจิ๋ว ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเขียนหลายแผ่นและต้องเสียเงินมากเวลาที่ถ่ายเอกสาร รวมทั้งที่บางคนไม่มีเงินถ่ายเอกสาร ก็ต้องคอยยืมอ่านเอาจากเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ต้องอ่านเร็ว ๆ และเวียนกันอ่าน ร่วมกับการที่ให้เพื่อนที่เป็นคนไปจดมานั้นเป็น “ติวเตอร์” หรือทบทวนเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ให้ รวมถึงเมื่อเวลาที่ใกล้สอบก็จะให้เก็งข้อสอบแล้วลองเฉลยหรือเขียนแนวตอบให้ดู เพื่อนำไป “พลิกแพลง” เขียนตอบไม่ให้เหมือนกันมากนัก โดยแนวข้อสอบนี้ก็จะมีรุ่นพี่ที่เคยเรียนวิชานี้เป็นผู้ช่วยกะเก็งให้ด้วยอีกทางหนึ่ง

“งานมวลชน” ที่ทำกันอยู่เป็นประจำก็คือ “การสัมมนา” ซึ่งก็คือการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ คล้ายการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มละ 10 - 15 คน มีคนนำการสัมมนา ที่ก็ได้แก่นักศึกษารุ่นพี่ สลับกันมาเป็นวิทยากรให้ และบางครั้งก็มี “คนนอก” ที่มีประสบการณ์ทั้ง “งานเมือง” และ “งานป่า” มาเป็นวิทยากรให้บ้าง ซึ่งอัมพรก็ชอบเข้าร่วมสัมมนานั้นด้วยความตื่นเต้นมาก ๆ ทุกครั้ง เพราะนอกจากจะได้ “ทางนำ” ในการสร้างสรรค์หรือ “ปฏิวัติสังคม” นั้นแล้ว วิทยากรยังได้ให้ผู้ร่วมสัมมนาได้ “เปิดใจ” แสดงความคิดเห็นต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างอิสระ ซึ่งแต่ละคนก็จะพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ออกมาอย่างเผ็ดร้อน โดยวิทยากรจะพยายามตะล่อมให้เริ่มพูดจากเรื่องง่าย ๆ เช่น ปัญหาที่รายรอบตัวของแต่ละคน ปัญหาครอบครัว พ่อแม่ และการเรียน เป็นต้น จากนั้นก็จะกระตุ้นให้เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาของบ้านเมือง เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่หัวโบราณทำให้พวกเราเป็นเผด็จการ หรือการติดต่อราชการที่ล่าช้ามีการโกงกินก็คือศักดินาล้าสมัย ฯลฯ ส่วนวิทยากรคนนอกนอกจากจะเล่าประสบการณ์การทำงานมวลชนของตัวเองแล้ว บางคนยังได้แนะนำ “แนวปฏิวัติ” ที่ก็ได้แก่ “การติดอาวุธ” ตั้งแต่ “อาวุธทางปัญญา” คือการตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับผู้คนทั้งหลายแล้ว ก็ต้องติดอาวุธจริง ๆ ให้กับการต่อสู้เพื่อโค่นล้ม “สังคมทราม” และ “กากเดนศักดินา”  ทั้งหลาย ในอันที่จะสร้างโลกใหม่ที่ทุก ๆ คนจะมีความเท่าเทียมกันนั้นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ในปีที่จะเกิดเหตุการณ์กวาดล้างนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น อัมพรขึ้นชั้นเป็นนักศึกษาปี 2 พอดี โดยในช่วงก่อนสงกรานต์ของปีนั้นซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ รุ่นพี่ได้พารุ่นน้องที่เพิ่งจบปี 1 จำนวน 20 กว่าคนไป “สัมมนาป่าเขา” แถวจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอัมพรก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น โดยไปอาศัยอยู่กินนอนในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ชายเขาแห่งหนึ่งราว 2 สัปดาห์ ทำทีว่าไปช่วยบูรณะพัฒนาโรงเรียน มีการทำถนนและทำสวนในโรงเรียน ทาสีห้องเรียนและตัวอาคาร ตลอดจนปรับปรุงสุขาและที่ทำที่ทิ้งขยะ แต่ระหว่างนั้นก็มีกิจกรรมกับชาวบ้าน มีรุ่นพี่บางคนที่เรียนแพทย์อยู่ในมหาวิทยาลัยอื่นมาทำทีว่าเป็นหมอช่วยตรวจโรคให้ชาวบ้าน พร้อมกับจ่ายยาง่าย ๆ จำพวกยาแก้ไข้แก้ปวดหัว ท้องเสีย หรือยาทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พร้อมกับ “ถามสารทุกข์สุกดิบ” จากชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้ระบายความรู้สึกที่ไม่พอใจต่อข้าราชการ ร่วมกับความคับแค้นใจในความยากจน และความคับข้องใจที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเมืองหลวงและรัฐบาล

แต่พอวันที่ 6 ตุลาคม 2519 “โลกสีทอง” ที่พวกของอัมพรวาดหวังก็พังทลายลงในวันนั้น และพวกเขาก็ต้องเข้าไปอยู่ใน “โลกสีดำ” อีกหลายปี กว่าที่จะได้ออกมาเห็น “โลกจริง ๆ” อีกครั้ง