จากรัฐบาลสี จิ้นผิง ที่ยังยังคุมเข้มซีโร่ โควิดต่อไป อีกทั้งการเปิดประเทศของจีนเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในบางพื้นที่ และเปิดกับประเทศที่มั่นใจว่าเมื่อไปเที่ยวแล้วกลับมาแล้วปลอดภัย ไม่เปิดเต็มรูปแบบเหมือนประเทศอื่น ๆ ดังนั้นในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรการของแต่ละประเทศเป็นหลัก

ใช้เวทีเอเปคเจรจากับสี จิ้นผิง

ดังนั้นนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวว่า จากการประเมินในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เห็นแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก  แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปค ดังนั้นคาดหวังว่าจะมีการหารือร่วมกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กับรัฐบาลไทยที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยหวังให้ทางการจีนพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนในบางมณฑล เปิดทางให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยอีกครั้ง  

ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณจากรัฐบาลจีนชัดเจนว่าจะยังคงดำเนินนโยบายซีโร่ โควิด ต่อไป จนกว่าจะมีการประชุม 2 สภาของรัฐบาลจีนในเดือนมีนาคม 2566  

โดยประเมินว่ารัฐบาลจีนจะส่งสัญญาณเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากเดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่จีนจะปล่อยนักท่องเที่ยวออกเดินทาง ดังนั้น อยากให้ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ของการท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมสำหรับรองรับตลาดจีนทันทีที่เขาพร้อมออกเดินทาง

คุยระดับทวิภาคีกับประเทศคู่เจรจา

ซึ่ง นายยุทธศักดิ์  ยังกล่าวว่า ทุกวันนี้กลุ่มคนจีนได้เดินทางมาไทยจำนวนหนึ่งแล้ว และในประเทศจีนเองมีการเพิ่มเที่ยวบินต่อเนื่อง จากมีเพียง 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ปัจจุบันให้บริการกว่า 30 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินนี้สะท้อนว่าจีนเองก็ทยอยเปิดประเทศและอนุญาตให้บางกลุ่มออกเดินทางได้ เช่น นักเรียน นักธุรกิจ ประชุมสัมมนา เป็นต้น

ทั้งนี้ได้ประเมินถึงรูปแบบการเดินทางในช่วงแรกจะเป็นการเดินทางแบบกรุ๊ปมากกว่าเป็นแบบเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้อนุญาตให้บริษัททัวร์เริ่มขยับและส่งออกนักท่องเที่ยวบางส่วนได้แล้ว แนวโน้มเหล่านี้ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวทางบวกทั้งสิ้น

 อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทางรัฐบาลไทยจะมีการพูดคุยในระดับทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงมองหามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าระหว่างกัน

ในเบื้องต้นมีผู้นำที่ยืนยันเข้าร่วมประชุมเอเปคจำนวน 15 ราย คือ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ นายกรัฐมนตรีบรูไน, โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย, มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, เหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา, ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน, จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง, แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, แกเบรียล บอริช ประธานาธิบดีชิลี, เปโดร แคสเทลิโอ ประธานาธิบดีเปรู, จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี