วันที่ 10 พ.ย.2565 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมืองสู่พิพิธภัณฑ์เมือง กทม.ครั้งที่ 1/2565 ว่า ในการประชุมหารือวันนี้เน้นหนักไปที่วัตถุประสงค์ว่าจะทำให้ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรได้บ้าง หลังจากมีการย้ายบุคลากร กทม.ไปประจำที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง โดยแบ่งคณะกรรมการพิจารณาเป็น 2 ชุด เพื่อพิจารณาใน 2 เรื่อง ได้แก่ คณะกรรมการชุดที่ 1 ดูแลเรื่องข้อกำหนดในการย้าย เพราะยังมีหน่วยงานที่ประจำอยู่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้าอีก 8 แห่งรวมถึงมีพนักงานอีก 2,500 คน ที่ต้องย้ายไปประจำที่ดินแดง จึงต้องมีการปรับปรุงศาลาว่าการ กทม. ดินแดงเพิ่มเติม เพื่อรองรับหน่วยงานและบุคลากรที่เหลือ โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการในการดูแลเรื่องนี้ ซึ่งพบอุปสรรคภายในคือ พนักงานไม่อยากย้าย
ทั้งนี้เข้าใจว่าหลายคนอาจหวั่นเกรงความเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีภาระเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องการไปโรงเรียนของบุตรหลาน อย่างไรก็ตาม ยังมีกำหนดพิจารณาระยะเวลาการย้ายอีก 2 ปี เพื่อจัดการสถานที่ ตึกทำการ ห้องทำงาน ในแง่ของการบริหารจัดการบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ และคณะกรรมการชุดที่ 2 ดูแลเรื่องการกำหนดเนื้อหาเพื่อนำเสนอศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้าในรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ ในที่ประชุมเห็นว่าควรทำให้เป็นศูนย์รวมของคน ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ พร้อมหาคำตอบให้ได้ว่าย้ายเพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร ผลกระทบที่มีต่อชุมชนคืออะไร เพราะผู้ประกอบการในชุมชนโดยรอบศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า ต้องเสียลูกค้าบางส่วนซึ่งเป็นข้าราชการประจำ กทม.ไป การประชุมวันนี้จึงเป็นการร่วมกันหาคำตอบเพื่อรองรับปัญหาอุปสรรคที่จะตามมาในมิติต่างๆ รอบด้าน เช่น หากย้ายไปดินแดงแล้ว ที่เสาชิงช้าจะดำเนินการอย่างไรต่อ รวมถึงการทดแทนฟันเฟืองเศรษฐกิจที่ขาดหายไปจากการย้าย เพราะถ้าจะทำแล้วต้องทำให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ต้องสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นให้ได้ ภายใต้ 4 แนวทางพิจารณา คือ 1.ทำให้เป็นศูนย์กลางคนเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับลานคนเมือง สถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบบริเวณของเสาชิงช้า นำเสนอเนื้อหาสอดแทรกอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของกรุงเทพมหานคร 2.สิ่งที่จะสร้างขึ้นที่เสาชิงช้า ต้องช่วยฟื้นฟูสนับสนุนและเชื่อมโยงย่านต่างๆ โดยรอบ เช่น ภูเขาทอง เยาวราช สนามหลวง เป็นต้น เพื่อทำให้เป็นจุดท่องเที่ยวใหญ่ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร 3.สร้างแล้วต้องได้รับความนิยม มีการนำเสนอที่น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง กทม.มีเป้าหมายถึงระดับนั้น 4.เป็นแหล่งแสดงถึงชีวิตของคน สามารถแสดงงานศิลปะหรือจัดแสดงสิ่งต่างๆ ได้ โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจต้องดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
“ยังไม่มีกำหนดการย้ายข้าราชการประจำศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้าที่เหลือไปที่เขตดินแดง วันนี้เป็นเพียงการเริ่มประชุมเท่านั้น ยังต้องศึกษารายละเอียดรอบด้านอีกมาก แต่สิ่งที่จะทำต้องเป็นศูนย์รวมผู้คนและเชื่อมโยงย่านต่างๆ โดยรอบได้ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ เพียงแต่ต้องทำยังไงให้เป็นศูนย์รวมคนได้เท่านั้น” นายชัชชาติ กล่าว