เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ประจำปี 2565 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย การพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 เมืองเพิ่มเติมจากปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด คาดเกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท พร้อมเสนอ เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง ฉะเชิงเทรา เพิ่มเป็นสมาชิกในเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ฯลฯ ร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบออนไลน์

โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน โดยเฉพาะประเด็นการมอบตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองการเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ 15 พื้นที่ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย
1) นครระยอง เมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ จังหวัดระยอง
2) คันทรงโมเดล เมืองแห่งความสุขที่พึงประสงค์และสังคมแห่งการแบ่งปัน จังหวัดชลบุรี
3) เมืองอัจฉริยะจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
4) โครงการพิษณุโลกนครอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จังหวัดพิษณุโลก
5) นครเชียงรายสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดเชียงราย
6) เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน
7) โคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา
8) Smart City อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
9) กระบี่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดกระบี่
10) จังหวัดพังงาสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดพังงา
11) Satun Smart City จังหวัดสตูล
12) พัฒนาเทศบาลนครเกาะสมุย สู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
13) หาดใหญ่เมืองอัจฉริยะสีเขียว จังหวัดสงขลา
14) ปัตตานีเมืองอัจฉริยะ จังหวัดปัตตานี
15) เมืองสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกว่า 20 ล้านคน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอ โดย 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมวันนี้จะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท