วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 08.30 น. ที่บริเวณลานด้านหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน(หลังเก่า) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน ร่วมกิจกรรมการประกวดปล่อยโคมลอยและการประดิษฐ์กระทงฝีมือ ประจำปี 2565 โดยมี นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดงาน มี นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรม
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสาธิต การทำกระทงประดิษฐ์ของชุมชนและนักเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองลำพูน , การประกวดการประดิษฐ์กระทงฝีมือ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป และการประกวดปล่อยโคมลอยประเภทนักเรียนนักศึกษา
นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวว่า การปล่อยโคมลอย ชาวบ้านทั่วไปมีความเชื่อกันว่า การปล่อยโคมลอยเป็นการปล่อยเคราะห์กรรม สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ให้ลอยออกไปจากชีวิตและนำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังถือกันว่า เป็นการถวายแต่พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ และเป็นการสร้างความสนุกสนาน สามัคคี ภายในหมู่บ้านอีกด้วย การจัดกิจกรรมการประกวดปล่อยโคมลอยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลัง ได้เล็งเห็นและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียน/นักศึกษา มีผู้เข้าร่วมการประกวด จำนวน 15 ทีม และประเภทประชาชนทั่วไป มีผู้เข้าร่วมการประกวด จำนวน 25 ทีม รวมทั้งสิ้น 40 ทีม ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เทศบาลเมืองลำพูน ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการตัดสินการประกวดโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง
ด้าน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำหรับโคมลอย เชื่อถือกันว่าเป็นการปล่อยเคราะห์กรรม และการถวายเป็นพระพุทธคุณ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลัง ได้เล็งเห็นและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน ดังนั้น พวกเราจึงควรสืบสานประเพณีนี้ไว้ให้อยู่คู่เมืองหริภุญชัยสืบไป.