โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลธร อันเนื่องมากจากพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย ขณะเดียวกันเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการประมงและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยอ่างเก็บน้ำฯดังกล่าวมีความจุ 98 ล้าน ลบม.สำหรับพื้นที่ชลประทาน และเพื่ออุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ อำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอบ่อทอง และอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย พื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน 44,000 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง 8,500 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประมงและพื้นที่อุตสาหกรรม 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 และแล้วเสร็จในปี 2558 ที่ผ่านมา โดยงบประมาณค่าก่อสร้างทั้งโครงการ 9,341.36 ล้านบาท และถือเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีขนาดใหญ่ล่าสุดที่เปิดดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำโครงการ “มหกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอเกาะจันทร์” เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร และประชาชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยแนวคิดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายมุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะจันทร์ ร่วมกับกรมชลประทาน บูรราการร่วมกันดำเนินการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบอำเภอเกาะจันทร์ เพื่อเป็นหมู่บ้านในการเรียนรู้การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในการนี้เพื่อให้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงได้มีเวทีในการนำเสนอผลงานความสำเร็จและและเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร นายอำเภอเกาะจันทร์ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการมหกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอเกาะจันทร์ว่า ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างหมู่บ้านที่ผลงานดีแด่นและมีส่วนราชการที่การดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้คำแนะนำเติมเต็มเพื่อนำไปสูความยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ยังได้เปิดเวทีให้คนในชุมนได้นำสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนนำมาจำหน่าย เพื่อเป็นช่องทางทำมาหากินและเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริม หลังจากที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งทางกรมฯเองไม่ได้นิ่งนอนใจ หาแหล่งทำกินให้กับชาวบ้าน ขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน รวมทั้งพัฒนาอ่างเก็บน้ำดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย ด้าน นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญ กล่าวว่า กรมชลประทานได้ทำการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2555 ระยะเวลา 15 ปี งบประมาณ 300 ล้านบาท ประกอบด้วย 25แผนงาน โดยมี 15 หน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้สำหรับแผนการดำเนินงานของกรมชลประทาน ที่ต้องเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยให้การส่งเสริมอาชีพ มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 9 หมู่บ้านในพื้นที่รอบอ่าง ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้โอนงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับกรมพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินการแผนพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “กรมชลประทานยังได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร โดยได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบรอบอ่างเก็บน้ำ 9 หมู่บ้าน ทำการส่งเสริมอาชีพให้เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน เช่น ปลูกมะนาว แปรรูปเพาะเห็ด การประมง เป็นต้น และมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกันเอง ทำให้ทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างฯ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง มีความสุขที่ยั่งยืน และที่สำคัญยังสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย” นายมหิทธิ์ กล่าว ขณะที่ นางยาใจ ลำเรียง ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า จากเดิมอยู่ในพื้นที่หมู่ 15 ย้ายมายังหมู่ที่ 10 ทำอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งช่วงย้ายมายังหมู่ 10 ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ทางการได้ให้หน่อไม้ เพื่อทำกินก่อน ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้พันธุ์มะนาวนำมาปลูก และแบ่งตอนกิ่ง เพื่อจำหน่าย การที่กรมชลประทานเมาดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ทำให้การคมนาคมสัญจรสะดวกมากขึ้น ชีวิตมีความสุขมากขึ้น สุดท้ายอยากฝากให้ทางกรมชลประทาน หาแหล่งน้ำ-ส่งน้ำให้เพื่อการอุปโภค-บริโภค อีกทั้งยังช่วยให้ความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้นในอนาคต