ที่รัฐสภา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ สสส. ร่วมจัดกิจกรรมสื่อสารรณรงค์ “ลอยกระทงสร้างสรรค์ : ชวนลูกหลานปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่และปัจจัยเสี่ยง” ณ บริเวณชั้น 1 สำนักการแพทย์ อาคารรัฐสภา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองชักชวนบุตรหลานร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงแบบดั้งเดิม เตือนให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจุดพลุประทัดยักษ์และดอกไม้ไฟ ไม่ปล่อยโคมลอยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนการดูแลบุตรหลานไม่ให้ออกไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศโดยลำพังเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมกันนี้ภายในกิจกรรมได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็นและวิธีการชักชวนลูกหลานให้ร่วมลอยกระทงอย่างสร้างสรรค์ เช่น “ลอยกระทงปลอดภัย มีสติจะมีความสุข” , “ชวนลูกหลานใส่ชูชีพ ลอยกระทงไม่จมน้ำ” , “ลอยกระทงปลอดภัย ไม่เล่นพลุไฟนะคะ” , “ลอยกระทงห่างไกลเหล้า ชวนลูกเต้า สืบสานประเพณีไทย” , ลอยกระทงออนไลน์ ปลอดภัยปัจจัยเสี่ยง และไม่สร้างมลพิษลงแม่น้ำ” โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กล่าวถึงการลอยกระทงสร้างสรรค์ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 กลางปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนเริ่มออกไปเที่ยวเล่นมากขึ้น พอถึงเทศกาลอย่าง เช่น เทศกาลลอยกระทง วัยรุ่นที่อยู่หลายพื้นที่จะมารวมตัวกัน ทำให้เกิดความหนาแน่น ดังนั้นอยากให้เด็กและเยาวชนพึงระวังว่าตนเองยังเป็นเยาวชนอยู่ หากไปเที่ยวตามเทศกาล ต้องเที่ยวอย่างมีสติ เพื่อจะได้เว้นจากโรค เว้นจากสุรายาเมา เว้นจากการเที่ยวเตร่ จนก่อเหตุเกินเลย ที่สำคัญต้องระวังการติดเชื้อโควิด-19 อย่าประมาทเพราะยังมีการแพร่ระบาด ควรป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ส่วนข้อห่วงใยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเกิดในเทศกาลลอยกระทงนั้น ความจริงสถานการณ์นี้ก็มีขึ้นอยู่ทุกวัน ยิ่งในช่วงเทศกาลจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้สถิติสูงขึ้น ดังนั้นควรเตือนลูกหลานถ้าไม่พร้อมให้หักห้ามใจ แต่ถ้าพลาดต้องรู้จักป้องกัน

“ฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เด็กและเยาวชนติดต่อสื่อสารกันทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว หากอยากเตือนลูกหลานไม่ให้หลงในปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต้องพูดเหมือนเพื่อน อย่าใช้คำสั่ง เพราะถ้ายิ่งบังคับความล้มเหลวจะสูง หากใช้วิธีค่อยๆคุย และให้เขาเรียนรู้บทเรียนจากข่าว เขาจะเริ่มซึมซับและจะมีสติมากขึ้น”นายวัลลภกล่าว