วันที่ 7 พ.ย.65 ที่ศาลากลางบ้านหนองแคน หมู่ที่ 5 ต.เมืองเสือ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ทางกลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือบ้านหนองแคน ที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 51 ครัวเรือน มีจำนวนโค 337 ตัวกระบือ 13 ตัว ได้มาศึกษาการลดต้นทุนการผลิตโคเนื้อ และเพิ่มมูลค่าฟางหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คือ ฟาง ให้เป็นอาหารสัตว์คุณภาพ โดยผ่านกระบวนการทำฟางหมักยีสต์ โดยมีวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ทำให้ลดต้นทุนอาหารในการเลี้ยงโคเนื้อเหลือแค่ กก.ละ 1.5 บาทและยังเป็นอาหารในช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนหญ้าสดให้โคได้กิน
ในการทำฟางหมักยีสต์ เพื่อเพิ่มโปรตีนและมีกลิ่นแอลกอฮอล์ช่วยกระตุ้นรสชาดหอมน่ากิน รวมทั้งมีกากน้ำตาลเพิ่มความหวานและพลังงานร่วมด้วย สามารถใช้เลี้ยงโค เป็นการเพิ่มคุณภาพอาหารหยาบเพื่อเลี้ยงสัตว์ ขั้นตอนการทำฟางหมักยีสต์ ใช้ฟางอัด 50 ก้อน (น้ำหนักรวมประมาณ 1,000 กก. หรือ 1 ตัน)+ หัวเชื้อยีสต์ผสมสำเร็จ 1 กก. +กากน้ำตาล 100 กก.+ยูเรีย 50 กก.+น้ำ 1,000 ลิตร ผสมกวนให้ละลาย แล้วเทราดน้ำหมักยีสต์ใส่ฟางทีละชั้น(ฟางไม่ต้องแกะเชือก) เสร็จแล้วปิดดีๆอย่าให้อากาศเข้าช่วงแรกหรือเอาผ้าสแลนมาคลุมอีกรอบก็ได้ป้องกันลมพัดผ้าใบเปิด และยังช่วยถนอมผ้าใบให้ใช้ได้หลายครั้ง เสร็จแล้วหมักไว้อย่างน้อย 14 วัน พอครบกำหนดก็เปิดทยอยเอามาใช้เลี้ยงสัตว์และเก็บได้นาน 45 เดือน ซึ่งสภาพอากาศร้อนชื้นบ้านเราเหมาะมากกับการเจริญเติบโตของยีสต์ คร่าวๆหมักแล้วได้โปรตีน 8-9 เปอร์เซ็นต์ วัวชอบมาก เพราะรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมแอลกอฮอล์ช่วยกระตุ้นการกินได้อย่างดี สังเกตว่าวัวชอบกินมีความสุข ตาเคลิ้ม กลายเป็นโคขุนอารมณ์ดี สบายผู้เลี้ยงวัวช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนหญ้าสด ส่วนหน้าฝนก็ใช้หญ้าสดเลี้ยงเหมือนเดิม ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารหยาบในช่วงหน้าแล้งแก่พี่น้องเกษตรกรบ้านเรา และต้นทุนผลิตฟางหมักยีสต์ทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ 1.5 บาท ต่อ กก. นอกจากฟางแล้ววัตถุดิบอาหารอย่างอื่นก็สามารถนำมาทดแทนฟางและหมักยีสต์ได้เช่นกัน ต้นข้าวโพดสับ เปลือกข้าวโพด หญ้าแห้ง ใบปาล์มบดสับ
นายสุวัตร บุญโสม ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือบ้านหนองแคน กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นทีมหาสารคามที่ผ่านมา ทำให้เกิดความขาดแคลนอาหารในการเลี้ยงโคกระบือทำให้ฟางข้าวมาราคาสูงขึ้นมาก ทางกลุ่มจึงได้เล็งเห็นว่าควรจะนำความองค์ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าของฟางข้าว ที่มีอยู่ในบ้านเรือนของเรา จึงได้นำนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามมาทำการสอนทำการทำฟางหมักยีสต์ ไว้เป็นอาหารแต่โคกระบือในช่วงหน้าแล้ง และยังสามารถลดต้นทุนราคาอาหารได้ดีด้วย โดยวัสดุหาได้ง่ายในพื้นที่ และมีโปรตีนสูงทำให้โคกระบือมีน้ำหนักสามารถขายได้ราคาสูง เป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร