วันที่ 7 พ.ย.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการความปลอดภัยวันลอยกระทง กรณีการเก็บเงินในกระทง ว่า จริงๆไม่ได้มีกฎหมายห้ามคนลงไปเก็บเงินในกระทง แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัย ไม่ได้ผิดกฎหมาย กทม.จะมีเจ้าหน้าที่คอยห้ามไม่ให้ลงไปในน้ำ คงไปห้ามไม่ได้ และไม่ได้มีกำลังคนจะไปจับปรับอะไร ต้องขอความร่วมมือประชาชนไม่ใส่เงินลงไปในกระทง ถ้าไม่มีคนใส่เงิน คนลงไปหาเงินในกระทงไม่มีก็คงเลิกไป เราต้องช่วยกันทั่งสองฝั่ง

“ ถ้าอยากจะทำบุญ ปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก เอาเงินไปบริจาคจะได้บุญไม่น้อยกว่านำไปลอยกับกระทง เดี๋ยวจะหาตู้มูลนิธิให้หย่อนเงิน เพราะลอยกับกระทงส่วนใหญ่เงินจะจมน้ำไป ไม่มีใครได้นำไปใช้ อย่างน้อยถ้าเราเอาไปบริจาคให้เด็ก 10 บาท 20 บาท เด็กยังได้อาหารกลางวันตั้ง 1 มื้อ อย่าไปใส่เลย จะทำให้เกิดบาปด้วยซ้ำ เพราะถ้าใส่เงินไปแล้วเด็กไปแย่งกันเกิดจมน้ำตายอย่างที่เคยเกิดเหตุมา “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว 

ผู้ว่าฯกทม.ยังได้กล่าวเรื่องความปลอดภัยของโป๊ะและท่าเรือ ได้ดำเนินการตรวจความมั่นคงแข็งแรงทั้งหมดแล้ว กทม.มีโป๊ะ 404 แห่ง ตรวจไม่ได้มาตรฐานสั่งไม่ให้ใช้งาน 28 แห่ง ส่วนระดับน้ำในคลองต่างๆ ที่ได้พร่องน้ำไว้ลดลงไปมาก ขอให้ระมัดระวังในการลอยกระทง อาจมีอุปกรณ์ช่วยเช่นสไลด์เดอร์ หรือกระบวย ช่วยปล่อยกระทงลงน้ำ และฝากดูแลเด็กและผู้อ่อนแอด้วย ในส่วนของสวนสาธารณะของกทม. มีการจัดงาน 31 จุด ให้รองปลัดกทม.ลงไปดูแล มีการควบคุมการเข้าออก เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก

สำหรับการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ ต้องขออนุญาตเขต ถ้าสถานที่ใหญ่ๆ จะมีการจุดดอกไม้ไฟก็ต้องไปขออนุญาตเขตก่อน ส่วนประชาชนทั่วไปกฎหมายห้ามเล่น ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอัคคีภัยรุนแรง อากาศแห้งมีเพลิงไหม้มากขึ้น เช่นวานนี้ไหม้ถึง 3 จุด ก็ต้องขอความร่วมมือไม่เล่นดอกไม้ไฟ ช่วยกันตักเตือน เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดอัคคีภัยได้ ขอให้เราอยู่กันด้วยความสวยงาม การรำลึกถึงบุญคุณของพระแม่คงคา