วันที่ 5 พ.ย.2565 นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึงว่า โดยภาพรวม กทม.จัดงานลอยกระทง 3 แห่ง ได้แก่ ใต้สะพานพระราม 8 คลองโอ่งอ่าง และคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งจัดร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลความปลอดภัยทั้งหมด 50 เขตของ กทม. ซึ่งประสานงานร่วมกับกรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ สนับสนุนกำลังลาดตะเวนตลอดลำน้ำเจ้าพระยา และมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ 2 คน เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 2 คน ประจำทุกโป๊ะที่มีการเปิดให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง โดยเฉพาะบริเวณใต้สะพานพระราม 8 กองทัพเรือสนับสนุนมนุษย์กบเพื่อดูแลความปลอดภัยกรณีคนตกน้ำ ทั้งนี้ ทุกพื้นที่สำนักงานเขตที่มีสวนสาธารณะจะร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเจ้าของสวนสาธารณะ โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์บัญชาการในการดูแลความปลอดภัยของเขตตนเองเป็นหลัก

นายธีรยุทธ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา 2 -3 ปี ไม่มีเหตุร้ายเกี่ยวกับการจุดพลุและโคมลอย เนื่องจากตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด มีการปล่อยโคมลอยไปตกที่บ้านเรือนประชาชนและคอนโดมิเนียมได้รับความเสียหายหลายพื้นที่ จากนั้น คสช.จึงใช้อำนาจ ม.44 ประกาศห้าม กทม.จึงออกข้อบัญญัติและออกประกาศสำทับตามภายหลัง โดยกำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงมีการรณรงค์เพิ่มเติม จึงไม่มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีกตั้งแต่นั้นมา ส่วนในปัจจุบันหากมีกรณีต้องการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟขึ้นสู่อากาศต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตในพื้นที่เท่านั้น หากผู้ประกอบการที่ต้องการขายพลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย ต้องระวังกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับพลุ ดอกไม้ไฟ สิ่งเทียม อาวุธปืน ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่แล้ว โดยในปีนี้ กทม.มีมาตรการเพิ่มเติมคือ ไม่ยืนขอบบ่อ ไม่ยืนขอบคลอง ไม่ยืนขอบแม่น้ำ ซึ่งจะใช้การประชาสัมพันธ์และเฝ้ากำกับดูแลในพื้นที่ที่มีการลอยกระทง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และกองเรือดำน้ำ นอกจากนี้ กทม.ได้ออกประกาศ ห้ามลงเก็บเหรียญในกระทงเด็ดขาด เนื่องจากเคยเกิดเหตุเป็นตะคริวเสียชีวิตเพราะอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ประกอบกับความมืดจึงไม่มีใครสังเกตเห็น ซึ่งที่ผ่านมา ทุกพื้นที่ที่มีการเปิดให้ลอยกระทงมีผู้ลงไปเก็บเหรียญทุกที่ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยามีความลึกเชี่ยว หากเกิดอันตรายอาจไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน

“ขอเน้นย้ำว่าลอยกระทงในปีนี้ ทุกอย่างที่จะปล่อยขึ้นสู่อากาศไม่ว่าจะเป็นพลุหรือโคมลอย ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขต หากเป็นดอกไม้ไฟที่จุดตามบ้านเรือนแล้วไม่ปล่อยขึ้นสู่อากาศก็ไม่เข้าข่ายความผิด แต่ขอให้ระวังตนเองเป็นพิเศษอาจระเบิดใส่มือได้ รวมถึงห้ามลงน้ำเก็บเหรียญในกระทงเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายของ กทม.เน้นการตักเตือนเป็นหลัก หากไม่ได้รับความร่วมมือจริงๆ ถึงจะมีการดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมาแค่ตักเตือนก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่เคยถึงขั้นต้องดำเนินคดีใดๆ” ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กล่าว