วันที่ 4 พ.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า... 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 252,818 คน ตายเพิ่ม 659 คน รวมแล้วติดไป 636,707,992 คน เสียชีวิตรวม 6,600,596 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.62 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 72.23

...อัพเดต Long COVID ในสหราชอาณาจักร

ล่าสุดเมื่อวานนี้ 3 พฤศจิกายน 2565 ทาง Office for National Statistics (ONS) สหราชอาณาจักร ได้ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ Long COVID

ผลการสำรวจจนถึง 1 ตุลาคม 2565 พบว่ามีประชาชนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วกำลังประสบปัญหาอาการผิดปกติเรื้อรัง Long COVID จำนวนถึง 2.1 ล้านคน

"ระยะเวลาที่ประสบปัญหา Long COVID"

507,000 คนมีอาการผิดปกติมาแล้วนานอย่างน้อย 2 ปี

1.1 ล้านคนมีอาการมานานอย่างน้อย 1 ปี

1.8 ล้านคนเป็นมาอย่างน้อย 3 เดือน

และ 262,000 คนนั้นเริ่มประสบปัญหามาน้อยกว่า 3 เดือน

"คาดการณ์สายพันธุ์ที่ติดเชื้อ"

ในจำนวนคนที่รายงานว่าตนเองมีปัญหา Long COVID 2.1 ล้านคนนั้น พบว่า 749,000 (35%) คนที่ติดเชื้อในช่วง Omicron ระบาด

395,000 (19%) คนในช่วงเดลต้า, 257,000 (12%) คนในช่วงอัลฟ่า, และ 641,000 (30%) คนในช่วงก่อนอัลฟ่าระบาด

"ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน"

มีถึง 1.6 ล้านคน (73%) ที่รายงานว่าปัญหา Long COVID ที่เผชิญอยู่นั้นกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

โดย 333,000 (16%) คนแจ้งว่ากระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

"อาการผิดปกติที่พบบ่อย"

อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าง่ายนั้นพบได้มากถึง 70% ของผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID

รองลงมาคือ ปัญหาด้านสมาธิ 45%, หายใจเหนื่อย 42%, ปวดกล้ามเนื้อ 42%

"พบบ่อยในประชากรกลุ่มใดบ้าง"

ปัญหา Long COVID พบมากในเพศหญิง, กลุ่มคนอายุ 35-69 ปี, กลุ่มคนที่ยากจน, กลุ่มคนที่ไม่มีงานทำ, และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว/พิการ

...สำหรับไทยเรา

ข้อมูลความรู้ทั่วโลกที่เราได้ติดตามกันมา ต่างชี้ให้เห็นว่า Long COVID is real และจะเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาว

มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในทุกระบบของร่างกาย ส่งผลต่อสมอง ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบต่อมไร้ท่อ ฯลฯ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำย่อมดีที่สุด

ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ จะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยง Long COVID

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างดำรงชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

Prevalence of ongoing symptoms following coronavirus (COVID-19) infection in the UK: 3 November 2022.