3 พฤศจิกายน 2565, โรงแรมเคพี แกรนด์ จังหวัดจันทบุรี / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบาย “สร้างหลักประกันการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในการประชุมการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนายสุทิน แก้วพนา นายวีระ แข็งกสิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., ผู้ช่วยปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการ ศธ., ผู้อำนวยการสำนัก, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งบุคลากรเขตตรวจราชการ 9 (จันทบุรี, ตราด, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว) เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ก่อนช่วงวิกฤตโควิด 19 เล็กน้อย โลก VUCA World หรือยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวจากการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และก้าวกระโดด ส่งผลกระทบหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือด้านการศึกษา แต่หลังเกิดวิกฤตไม่นาน เหมือนว่า VUCA World ไม่สามารถอธิบายลักษณะของโลกใบใหม่ได้ แม้ว่าโลกก็ยังผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือเหมือนเดิม ทว่าความเร็วและความไม่แน่นอน ของการเปลี่ยนแปลง กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า

ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค BANI World ที่รวมเอา VUCA World, Digital Disruption, สังคมสูงวัย และโรคอุบัติภัยใหม่ๆ เข้าด้วยกัน เป็นโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล เข้าใจได้ยาก และไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก แม้แต่การใช้ Big Data เข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา ก็ยังเกิดภาวะ “ข้อมูลท่วม” เพราะแต่ละหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการศึกษาด้านนั้นๆ ทำข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้หรือใช้ได้น้อย
 
ทั้งนี้ ศธ.มีนโยบายหลัก คือ “สร้างหลักประกันการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต” สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานขับเคลื่อนและบรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ การรู้จักบทบาทของนโยบายการจัดการศึกษา ทั้งในเรื่ององค์กร (Organization) และการทำงาน (Function) ซึ่งหากไม่รู้ หรือไม่เข้าใจการขับเคลื่อนก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งการขับเคลื่อนทุกนโยบายมีเพียงเป้าหมายเดียวคือ เพื่อพัฒนา ยกระดับคุณภาพผู้เรียนและเยาวชน เป็นสำคัญ

สำหรับการจัดการศึกษาหลังจากวิกฤตโควิด 19 ศธ.มอบให้ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และผู้ตรวจราชการกระทรวง ไปดูในเชิงพื้นที่ทั้งประเทศ เราพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เกิดภาวะถดถอยในการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้ปกครองที่อยู่ในเมืองที่ไม่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ ก็อาจจะมีภาวะถดถอยในการเรียนรู้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้เรียนที่อยู่นอกเมืองและตามชายขอบห่างไกล จะมีความสะดวกเรื่องอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลน้อยกว่า ทำให้มีภาวะถดถอยในการเรียนรู้เกิดขึ้นมากกว่าผู้เรียนในเมือง

ปัญหาเหล่านี้ ศธ. และ รมว.ศธ.เป็นห่วง และหาแนวทางที่จะฟื้นฟูภาวะของผู้เรียนได้ จึงได้กำหนดมาตรการขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับผู้เรียน ทั้งด้านทักษะโดยตรงและโดยอ้อม เช่น เมื่อสถานศึกษาเริ่ม On-site มากขึ้น ก็เพิ่มจำนวนชั่วโมงในการเรียนและลดเวลาในการปิดภาคเรียน เพิ่มอุปกรณ์ในการเรียนรู้ให้กับตัวผู้เรียนให้มากขึ้น รวมทั้งแสวงหาอุปกรณ์สมัยใหม่สำหรับให้ผู้เรียนที่มีความขาดแคลนได้ใช้ยืมเรียน เพื่อสามารถกลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้น
 
ศธ. ได้มอบนโยบายให้สถานศึกษาดูแลกลุ่มเหล่านี้และนำเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะขาดแคลนอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงการศึกษาจนทำให้เรียนช้ากว่ากลุ่มที่มีอุปกรณ์ครบสมบูรณ์ ในขณะนี้สถานศึกษาได้เข้าถึงและพยายามดึงนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้สมบูรณ์ได้ จึงได้มีการจัดตั้ง “อาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ” (อสส.ศธ.) ขึ้นมา ประกอบด้วยคุณครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา (พสน.) รวมตัวกันทำจิตอาสาเข้าไปในชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ ภาวะการอ่านออกเขียนได้ให้กับประชาชนเชิงพื้นที่ รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ฝึกอบรมให้นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยม ปวช. ปวส.ทั่วประเทศให้มีทักษะการทำ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) เป็นการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิต ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถช่วยผู้ป่วย ผู้ประสบอุบัติเหตุที่หยุดหายใจกะทันหัน หรือหัวใจหยุดทำงานได้ โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาเป็นอาสาสมัครประมาณ 2 หมื่นคน โดยมีรูปแบบการทำงานคล้ายกับอาสาสมัครหมู่บ้าน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (อสม.สธ.) แต่เรามุ่งเน้นเรื่องการศึกษาของเยาวชน

“เชื่อมั่นว่าหาก ศธภ./ศธจ. ตลอดจนครูและบุคลากรในพื้นที่เข้าใจการขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรแล้วนั้น การขับเคลื่อนของเราจะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย “OPS the BEST” ได้อย่างแท้จริง (OPS : Office of the Permanent Secretary, Ministry of Education หรือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

The BEST
B : Believe Balance and Begin เชื่อมั่น สมดุล และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่
E : Excellence Effective and Energy ความเป็นเลิศ มีประสิทธิภาพ และมีพลังงาน
S : Strategic Support Sharing ความเฉียบแหลม สนับสนุน และแบ่งปัน
T : Team together ไปด้วยกันเป็นทีม

ในการประชุมครั้งนี้ รองปลัด ศธ.ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางการทำงานในความรับผิดชอบ โดยมีผู้อำนวยการระดับสำนัก/ศูนย์ ร่วมให้ข้อมูล บทบาท ภารกิจการทำงานร่วมกัน