บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

รากเหง้าสังคมไทย ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่เป็นพื้นฐานของการเมืองระดับชาติที่ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ เพราะสังคมไทยแต่โบราณมา เป็นสังคมเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วยเหลือ แบ่งปัน ที่เรียกว่า สังคมอุปถัมภ์ เป็นสังคมที่คนแข็งแรงจะคอยดูแลคนอ่อนแอ คนร่ำรวยจะคอยช่วยเหลือสังคม คนเด่นคนดัง คนมีอิทธิพลทางความคิดผู้คน ต่างมีจิตอาสาในการออกมาช่วยเหลือส่งเสริมพัฒนาบ้านเมือง จะว่าเป็นจุดแข็งของสังคมไทยก็ยังไม่เต็มปาก

รากเหง้าเดิมๆ “สังคมเครือญาติ” ช่วยหนุนให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในระดับชุมชนพื้นที่ ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องประเพณี วัฒนธรรม การสังคม การรวมกลุ่ม ที่ยังเหลืออยู่เห็นได้ชัดในสังคมบ้านนอก โดยเฉพาะในสมัยก่อนย้อนไปราว 40-50 ปีจะเหนียวแน่นมาก เดี๋ยวนี้เห็นยาก เพราะต่อมาการเมืองได้พัฒนาเป็น “ธุรกิจการเมือง” ที่ต้องใช้เงินซื้อ ใช้เงินขับเคลื่อน สังคมพี่น้องแบบบ้านนอกจึงสู้ธุรกิจการเมืองไม่ได้ ซึ่งคนเล่นการเมืองที่อยู่ได้นานต้องปรับตัวรอบด้าน เพื่อให้อยู่รอดในเส้นทางทางการเมือง

บทความนี้แรกๆ ผู้เขียนยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี เพราะได้เขียนไปมากแล้ว ซ้ำๆ วนกลับไปกลับมาในเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ลองมาทบทวนหาประเด็นวิพากษ์ เช่น อำนาจมืดในท้องถิ่นมีเพียงใด ท้องถิ่นรู้จักใช้ คำว่าบ้านใหญ่ คำว่าสลิ่ม “ตรรกะวิบัติ” หรือ “เหตุผลวิบัติ” (logical fallacy)หรือไม่ เพราะบริบทท้องถิ่นมีต่างๆ กัน อาจเป็น “ความพอดีที่ยังเข้าไม่ถึง” (ท้องถิ่นไม่มี) เพราะสองขั้วความคิด คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนหัวก้าวหน้ากับคนหัวอนุรักษ์ ยังยืนกันอยู่คนละมุม การยกวาทกรรมต่างขั้วการเมืองเข้าห้ำหั่นด้อยค่าด่ากัน วกไปวนมาซ้ำๆ คำเดิมๆ ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีประโยชน์อันใด รังแต่จะสร้างสะสมความขัดแย้งให้พอกพูน

มีคำกล่าวว่า “อคติบดบังปัญญา คนมีอคติย่อมมองไม่เห็นความจริง” ยังเป็นความจริง มิใช่เพียงวาทกรรมที่เพ้อฝัน หากพิจารณาว่าท้องถิ่นเป็นฐานราก (foundations) ของสังคม ของบ้านเมือง เหมือนเป็นรากหญ้า (grass roots) ของสิ่งต่างๆ ในเชิง “การบริหารเพื่อการพัฒนาสังคม” (Development Administration) ต้องมาทบทวน และเปลี่ยนแปลงแนวคิดกันใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมโซเชียลปัจจุบันที่ disrupt ไปไกลเกินกว่าที่ก้าวทันอย่างธรรมดาๆ ซึ่งระยะหลังๆ สังคมไทย disrupt เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะเกิดแนวคิดของคนรุ่นใหม่มีไฟ คนหัวก้าวหน้ามีแนวโน้มรักชาติรักประชาธิปไตย มีจำนวนที่มากขึ้น

สังคมไทยมีคน 2 ซีก คือ (1)ซีกอนุรักษ์ อ้างของเดิมดีแล้ว (2)ซีกปฏิรูป หัวก้าวหน้า อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุง แต่ฝ่ายอำนาจนิยมมองเพียงเบื้องต้นว่า สิ่งใดที่ยากหรือง่าย สิ่งใดที่ตนเองจะครองอำนาจ ตำแหน่ง ได้อย่างยั่งยืน แต่เพราะสิ่งดีย่อมมีปนกันในทุกซีก “ในดีย่อมมีเสีย ในเสียย่อมมีดี” เช่น ในซีกอนุรักษ์ ระบบอาวุโส(บริหารงานบุคคล) ยังมีส่วนดีกว่าระบบ fast track (โตแบบก้าวกระโดด) ตราบใดที่มีคำตอบว่า ยังมีความสงบสุขเที่ยงธรรมที่ยอมรับได้ เป็นแบบอย่างที่ยึดถือได้ยังมีอยู่ในสังคมนี้ แต่ทว่าในท้องถิ่นโดยเฉพาะในเขตบ้านนอกชนบทยังไม่ชัดเจน มีเพียงในชุมชนเขตเมืองเท่านั้นที่พบเห็นการปะทะความคิดต่างขั้วนี้

อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์ นำเสนอข้อมูลแบบไม่รอบด้าน ทำให้มีแนวโน้มได้ข้อสรุปตกขอบไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าด้านลบ หรือด้านบวกก็ตาม อีกฝ่ายต้องทำใจ และรับฟังในความเห็นต่าง เพราะเป็นข้อสรุปที่เป็นแนวโน้มมาจาก “ความน่าจะเป็น” ที่สูงกว่า มิใช่เพียงความน่าจะเป็นแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือความน่าจะเป็นมีโอกาสน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐาน บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่ปกติ ข้อมูลมิได้วิบัติผิดเพี้ยน (abusive) เท็จ ปลอม สร้าง เสริมแต่ง หลอกลวง ชี้นำ ไอโอ ปั่น สร้างกระแส พูดเอามัน ใส่ความ มีอคติ เหยียดหยัน บูลลี่ ฯลฯ อันเป็นปฐมเหตุแห่ง “เหตุผลวิบัติ” อาทิ เหตุผลลวง, ทุตรรกบท, ตรรกะวิบัติ, ปฤจฉวาที, มิจฉาทิฐิ (อคติมากเกิน), ความผิดพลาดเชิงตรรกะ, การอ้างเหตุผลบกพร่อง เป็นต้น หลายคนเริ่มพูดว่า สังคมไทยนี่ตรรกะวิบัติจริงๆ เพราะในระยะหลังๆ นี้ สภาพปัญหาโครงสร้างไทยทั้งหมดทั้งมวล นำไปสู่วาทกรรมยอดฮิตปัจจุบัน คือวาทกรรม “ชังชาติ” (Hate Speech not Free Speech) ชังโลก ชังคน แล้วก็ ด่าชาติ ขายชาติ ขายแผ่นดิน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นนัยความขัดแย้งทางความคิดของคนสองขั้วสองซีกอย่างชัดเจน

มีข้อจำกัดในการนำเสนอสิ่งใดที่ไม่ควรเป็นการให้ท้าย หรือปล่อยปละในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแก่คน อปท. โดยเฉพาะฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น (ฝ่ายการเมือง) และ ยอมรับในข้อสรุปประการหนึ่งว่า “คน อปท.ในส่วนดีมีจำนวนที่เยอะกว่าในส่วนที่เสีย” เช่น คำกล่าวว่าท้องถิ่นมีการทุจริตคอร์รัปชันมาก ซึ่งจากสถิติข้อมูลพบว่า ไม่เป็นความจริง เป็นต้น ลองมองสังคมการเมืองท้องถิ่นในมิติวัฒนธรรมที่หลากหลาย มาแยกแยะมุมมองในหลากๆ มิติ ที่นอกเหนือจากมิติทางวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ตามที่กล่าวข้างต้น

แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ มิใช่อำนาจมืด

พูดไปไกลเกินวกมาที่ท้องถิ่น ตามหลักฝรั่งเศสคือ “การเอาอำนาจออกไปจากศูนย์กลาง” การกระจายอำนาจ หมายถึง กระจาย “อำนาจอธิปไตย” ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ การกระจายอำนาจใน “การตัดสินใจ” (decision making) มิใช่การแบ่งอำนาจอธิปไตยของชาติ การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นมิใช่การสร้างอธิปไตย หากแต่เป็นการให้ (ยอมรับ) สิทธิในการปกครองตนเองของชุมชนและภูมิภาคภายใต้อธิปไตยของชาติหนึ่งๆ ร่วมกัน เป็นเรื่องของ “การจัดสรรแบ่งปันอำนาจ” (Distribution of Power) มิใช่การ “แบ่งแยกอำนาจ” (Division) ภายใต้บริบทของการบริหารปกครองในพื้นที่เรียกว่า ท้องถิ่น (Local Governance) Samuel Humes (1991) เสนอว่า ควรเป็นเรื่องของ “จัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจ” (Distribution) มิใช่การ “แบ่งแยกอำนาจ” (Division) เช่น แนวคิดในเรื่อง (De)centralization, (De)concentration, Devolution และ Delegation

สรุป การกระจายอำนาจในความหมายอย่างกว้าง คือ การจัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจการตัดสินใจ (การวินิจฉัยสั่งการ) เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ (Public Affairs) ของรัฐส่วนกลางไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ

ฉะนั้นจึงเป็นอำนาจ “การตัดสินใจในการพัฒนาบ้านเมือง” “การบริหารจัดการ กิจกรรมสาธารณะ” ที่มิใช่”อำนาจมืด” “อำนาจอิทธิพล” “อำนาจอภิสิทธิอยู่เหนือคนอื่น” “มือมืด” “มือที่มองไม่เห็น” อะไรทำนองนั้นแต่อย่างใด

ตามกฎหมายท้องถิ่นเป็นกฎหมายปกครอง แม้บางฉบับมีเนื้อหาทางอาญา (มีอัตราบทลงโทษทางอาญา) บ้าง แต่การใช้บังคับ “เกี่ยวกับการครอบครองทรัพย์สิน” มิใช่ “บังคับสิทธิส่วนร่างกายของบุคคล” ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงาน ไม่มีการบังคับในเรื่อง “การแต่งกาย” “ทรงผม” หรือ “จัดระเบียบแถว” “การเกณฑ์แรงงาน” “การเกณฑ์ทหาร” “ฝึกกองกำลังรบ”

กฎหมายจัดตั้ง อปท.บัญญัติให้ นายก อปท.และ คน อปท.เป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา” แต่คน อปท.มิได้เป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ที่มีอำนาจจับกุมคุมขังบุคคล แม้แต่การกำหนดให้แต่งกาย ด้วยผ้าไทย ก็กำหนดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด การกำหนดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ อปท. ก็กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น เห็นว่า อำนาจสำหรับตัวคน ไม่ได้อยู่กับ อปท. แถมคนลงสมัครรับเลือกตั้งยังหาเสียงว่า “มารับใช้ประชาชน” ไม่จำต้องหาเสียงว่า “บังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม” หรือ “จะเก็บภาษี และใช้เงินงบประมาณ อย่างสุจริต เที่ยงธรรม” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จึงต้องไปรับใช้ชาวบ้าน (service) ตามที่นักการเมืองท้องถิ่นหาเสียงไว้ เช่น น้ำท่วมบ้าน งูเข้าบ้าน ลอกท่อน้ำ กวาดพื้น ล้างพื้น ตัดต้นไม้ ขุดดิน ถมดิน ทาสี ฯลฯ สิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อการรับใช้สาธารณะ ครั้น พอหันมาเรื่อง การบังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) ชาวบ้านจึงไม่เคยฟัง

อปท.มีหน้าที่และอำนาจสำคัญคือ (1)บริการสาธารณะ แต่มิใช่ไปจัดงานศพ กางเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ไฟฟ้า ในงานศพ เพราะนั่นเป็นงานสงเคราะห์ อนุเคราะห์ (2) การพัฒนารายได้ (3) การบังคับใช้กฎหมายในหน้าที่ของ อปท.อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม

ส่วนแบ่งค่าปรับของกฎหมายท้องถิ่นที่ให้อำนาจตำรวจหรือฝ่ายปกครองเปรียบเทียบปรับนั้น มีข้อพิจารณาว่า จะทำให้ระบบของท้องถิ่นเสียหายเพียงใดหรือไม่ เมื่อเทียบกับกรณีเช่น การจับกุมยึดยาเสพติด สินค้าหนีภาษีศุลกากร เพื่อหวังสินบนนำจับของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ตำรวจ ทหาร ศุลกากร เพื่อขั้น ตำแหน่ง และสินบนรางวัลนำจับ ฯลฯ ที่อาจมีการสร้างเรื่อง นิยาย ในการวางแผนล่อซื้อ นกต่อ สายลับ เลี้ยงโจรไว้เป็นสาย มีจับกุมที่ซิกแซก ซ่อนเงื่อน นอกแบบ ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น เพราะในคดีอาญาตามกฎหมายจราจร เจ้าพนักงานตำรวจได้รางวัลค่าปรับครึ่งหนึ่ง หรือกฎหมายสาธารณสุขนั้น ผู้เปรียบเทียบปรับ คือเจ้าพนักงานเทศกิจได้รางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับเช่นกัน เหมือนตำรวจจราจรผู้จับกุม เป็นต้น

การเป็น จพง.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้เกิดความแตกต่าง เลือกปฏิบัติ อาจเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง เกิดความฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ เพราะอำนาจ อปท. มีแต่พระคุณ ไม่มีอำนาจพระเดช ในทางอาญาทั่วๆ ไปที่จะไปเอาโทษชาวบ้านประชาชน เหมือนอย่างฝ่ายตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง นายก อปท. และ ปลัด อปท.มิได้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แต่ในวงการเพียงทราบว่า มันมีการใช้อิทธิพล หรือการใช้อิทธิพลข่มขู่ อำนาจมืดของนักการเมืองท้องถิ่น (สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สถ.ผถ.) ในทางผิดกฎหมาย ครอบงำ เอื้อประโยชน์ อยู่บ้าง ถามย้อนว่า หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีตำแหน่ง เขายังจะใช้อำนาจอิทธิพลนั้นได้อยู่อีกหรือไม่ นี่เป็นประเด็น คำตอบก็คือ ต่อให้มีตำแหน่ง หรือไม่มีตำแหน่งเขาก็ยังคงดำรงตนเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เหมือนเดิมในสายตาของชาวบ้านทั่วไป เพราะ เขาเป็นคนในพื้นที่มีทั้งด้านลบและด้านบวก หากเป็นด้านบวกชาวบ้านก็จะเคารพเชื่อถือศรัทธา (charismatic) มาก ในทางการเมืองในระดับพื้นที่จึงเกิดคำว่า "บ้านใหญ่" (big house) เป็นระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่ ที่มีความหมายเชิงอิทธิพลบารมีในพื้นที่ ที่ทุกคนยอมรับ เคารพนบนอบ ฉะนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใด บ้านใหญ่ก็สามารถใช้อิทธิพลบารมีเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งอย่างง่าย เพราะมีต้นทุนเดิมทางสังคมมากอยู่แล้วในระดับพื้นที่

มิติอิทธิพลอำนาจมืดบารมีในท้องถิ่น ในมิติของการกระจายอำนาจรวมทั้งมิติอื่นๆ ยังมีได้ในท้องถิ่น ที่ภาพลบเป็นตัวบั่นทอน อปท.ให้ย่ำแย่ คนดีอยู่ยากหลายคนอยู่ไม่ได้ ทั้งสายข้าราชการฝ่ายประจำ และในสายผู้มีอำนาจทางการเมือง หากมองกลับอีกด้านอาจสร้างบ้านแลงเมืองได้ดีกว่าที่ไม่มีอำนาจมืด หากมีบ้างพอดี

นั่นหมายความว่า สังคมไทย ถูกบีบให้ประชาชนมีทางเลือกผู้นำน้อยลง ที่ต่างจากสังคมฝรั่งตะวันตก

คำว่า “กบในกะลา” ยังนำมาใช้กับสังคมไทยได้ เปรียบว่าคนในสังคมยังอยู่ในโลกแคบ ปิดกั้นความคิดจากภายนอก อยู่ในโลกของตนเอง ไม่รับรู้โลกของคนอื่น ถือเป็นจุดอ่อนยิ่ง การแช่แข็ง ปิดประเทศ ลากยาวการเลือกตั้งเป็นการกระทำเดิมๆ ที่ผลตามมาคือการฉุดรั้งประชาธิปไตย และ การพัฒนาให้หยุดอยู่กับที่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่มีกรอบความคิดที่ไม่รับความเห็นต่าง คอยเหยียด ทำลาย บูลลี่อีกฝ่ายไม่ให้โต ที่เรียกฉายาว่า “สลิ่ม” ยังคงมีอยู่ในสังคมโลกโซเซียลปัจจุบัน ทำให้พัฒนาการทางการเมืองของไทยมีข้อจำกัดในสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องและเป็นธรรม

นักการเมืองที่ยึดเอาการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อความอยู่รอด ความสะดวก สบาย ของตนเอง แม้จะชั่วคราว ไม่จีรัง ก็ยังมีอยู่ เพราะการเมืองไทยรวมไปถึงการเมืองท้องถิ่นด้วย ยังอยู่ในวังวนของธุรกิจการเมือง คนที่ตั้งพรรคได้ กลุ่มการเมืองได้ คนที่เป็นบ้านใหญ่ ต้องมีทุนหนา อุปถัมภ์สมาชิกพวกพ้องได้ แต่บางพรรคมีแต่ใจ มีแต่อุดมการณ์ความดี ทุนบาง หรือทำผิดพลาดกฎหมายพรรคการเมือง หรือในระยะต่อมาไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็ต้องล้มเลิก ถูกยุบพรรคไป กว่าสังคมจะตัดสินชี้ขาด มอบความนิยมให้แก่พรรคการเมืองที่มีความดียาก ต้องใช้ระยะเวลา เพราะกฎหมายพรรคการเมืองไทยยังไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้โตได้ตามระบอบประชาธิปไตย สังเกตได้จากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือสองใบ การจัดสรรระบบบัญชีเลือกตั้ง (บัญชีพรรค Party List) หรือ กติกาเงื่อนไขในการยุบเลิกพรรคการเมือง เป็นต้น

หลากมิติในสังคมการเมืองท้องถิ่น

ท้องถิ่นมีความหลากหลายในแนวคิด ในแง่มุม หรือมิติต่างๆ นอกเหนือจากมิติ “อำนาจมืดอิทธิพลบารมี” ดังกล่าวข้างต้น ขอยกตัวอย่างในมิติ “ความมั่นคง” ให้เปรียบเทียบความมั่นคงที่แตกต่างกันในอีกหลายๆ มิติ ที่ย่อมมีสายตาที่แตกต่างกัน เช่น ความมั่นคงในสายตาของรัฐตำรวจ (ใช้กระบวนการยุติธรรมสยบกร้าว) ของฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) ความมั่นคงในสายตาของเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร ความมั่นคงในสายตาของนักเศรษฐกิจ ด้านการลงทุน การสร้างงาน การซื้อการขาย การอาชีพ

ความมั่นคงในสายตา ของ อปท.เช่น ในด้านสังคม จะเห็นว่าต่างก็มีจุดยืนและแนวคิดที่ต่างกันมาก เรียกว่าต่างยืนกันคนละมุม ที่ต่างฝ่ายมีเป้าหมายจุดสำคัญคิดกันคนละทางคนละด้าน ที่นำมาเปรียบเทียบกันในเชิงสัมฤทธิแบบหวังผลไม่ได้ เพราะในบริบทของ อปท. หมายถึง ความมั่นคงในบทบาท องค์กร สังคม หรือตัวบุคคล ความมั่นคงในสังคม อปท. เป็นความไว้วางใจกันในเพื่อนบ้าน ลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และยอมรับการแก้ไข เยียวยาปัญหาจากสาธารณะ ที่รวดเร็ว ทันกาล และตรงจุด

ด้านสังคม ความมั่นคงทางครอบครัวท้องถิ่นเริ่มหดหายไป เพราะการดำเนินชีวิตที่ “ต้องพึ่งพา ปัจจัยภายนอกครอบครัว” สังคมครอบครัวแตกแยกมาก เพราะพึ่งพาภายนอกมากเกิน นักปราชญ์เพลโตกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อศีลธรรมเสื่อม จิตใจมนุษย์เข้าใกล้สัตว์เดรัจฉาน มากขึ้น ความเป็นปัจเจกชน ถูกรุกล้ำด้วยระบบทุน ไม่มีทุนก็แสวงหาด้วยการสร้างหนี้ (กู้) เพื่อนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน “ค่าครองชีพ” ประชาชนสูงขึ้น รายได้ ไม่พอกับรายจ่ายเกิดภาวะหนี้สินในระยะยาว เป็นปัญหาสังคมแน่นอน รัฐสวัสดิการไทยยังห่างไกล พูดไปเหมือนบ่น เพราะในระยะที่ผ่านมา และในอนาคตอันใกล้ทางออกยังตันเช่นเดิม

สังคมชั้นยศ เจ้ายศเจ้าอย่างของไทยยังมีอยู่ คำพังเพย ตรรกะเพี้ยนๆ “ขุนพลอยพยัก” เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด, อาบน้ำร้อนมาก่อน, เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย, พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง, ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง, สิบพ่อค้า หรือจะเท่าพญาเลี้ยง ฯลฯ วาทกรรมหรือวลีเหล่านี้ เป็นสำนวน ที่ขัดเกลาสังคมไทยและสังคมการเมืองไทยมาช้านาน หลายอย่างน่าจะใช้ไม่ได้ในโลกปัจจุบัน แต่ก็ยังท่องสั่งสอนลูกหลานมาตลอด

“การแถ” หรือ แถกแถ ตะแบง อัตตา อคติ ไม่ฟังใคร มีมานานแล้ว และ ปัจจุบันยังมีคำว่า “บกพร่องโดยสุจริต” นี่ก็แถเช่นกัน เป็นการให้ยอมรับในตัวผู้นำ, ให้อภัย, มองข้ามไป, หยวนๆ ยุติเรื่อง โดยอ้างวัตถุประสงค์เป้าหมายใหญ่ที่ฝ่ายตนคิดว่าสำคัญกว่า ถูกต้องกว่า และดีกว่า

ข้อห่วงใยสำหรับการเลือกตั้งงวดหน้าเกรงว่า ชาวบ้านตาสีตาสาจะถูกจูงจมูกเหมือนเดิม เพราะการรับรู้ทางการเมือง และโอกาสที่ถูกปิดกั้นต่างๆ ยังมีอยู่ การปลูกฝังถ่ายทอดค่านิยมทางการเมืองที่ถูกต้องยังมีข้อจำกัด นี่คือภาพการเมืองไทย ที่ย่อมส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง หรือการเมืองท้องถิ่นแน่นอน