ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

อุดมการณ์มีความสำคัญกับหลายคนและหลายสังคม แต่สำหรับอัมพรมันไม่มีค่าอะไรเลย

อัมพรเกิดมาในครอบครัวของชาวนา ครอบครัวของอัมพรเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องด้วยกัน 7 คน อัมพรเป็นคนกลางลำดับที่ 4 นอกจากนี้ก็มีปู่กับย่าและอาผู้หญิงที่ยังโสดอีกคนหนึ่ง เมื่อรวมกับพ่อกับแม่แล้ว บ้านของอัมพรก็มีคนทั้งสิ้น 10 คน ครอบครัวของอัมพรมีฐานะปานกลาง มีที่นาอยู่ 40 กว่าไร่ แต่ได้ให้คนอื่นเช่าไปทำนาเสียครึ่งหนึ่ง พอได้มีเงินส่งเสียลูก ๆ ให้เรียนหนังสือในโรงเรียนในเมืองจนจบชั้นมัธยมทุกคน โดยพี่ชายคนหนึ่งกับพี่สาวสองคนไปทำงานโรงงานในตัวเมือง เช่นเดียวกันกับน้องชายคนที่อยู่ถัดจากเขา ส่วนน้องชายอีกคนหนึ่งกับตัวเขานั้นได้เรียนจนจบปริญญา และได้งานทำที่กรุงเทพฯ เหลือแต่น้องสาวคนสุดท้องที่แต่งงานและเอาสามีมาอยู่ที่บ้าน ช่วยที่บ้านทำนากับพ่อและแม่ที่ยังแข็งแรงดี และดูแลปู่กับย่าที่ชรามากแล้ว

หมู่บ้านของอัมพรมีชื่อเสียงเรื่องการต้มเหล้าเถื่อน ตอนเด็ก ๆ บางวันขณะที่อัมพรกำลังเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ ในป่ากล้วยหลังบ้าน ก็จะมีเสียงตะโกนจากผู้ใหญ่ดังมาแต่ไกลบอกให้หลบขึ้นบ้าน เพราะตำรวจกำลังขับรถเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งก็คือรถจี๊ปไม่มีหลังคา ป้ายทะเบียนมีเครื่องหมายตราโล่ของตำรวจ หลายคนจึงเรียกง่าย ๆ ว่า “รถตราโล่” และเมื่อตำรวจพวกนี้เข้ามาก็จะตะโกนดัง ๆ ว่า “ตราโล่มาแล้ว ๆ” บนรถนอกจากจะมีตำรวจ 2-3 คนแล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่สรรพสามิตแต่งตัวชุดสีออกเทาเข้ม ๆ (บางคนบอกว่าที่จริงเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือกรมท่า แต่มันซักบ่อยจนซีดเป็นสีเทา ๆ)มาด้วย 1-2 คน สรรพสามิต 1 หรือ 2 คนนั้นจะมีเหล็กเส้นขนาดสักนิ้วก้อย ยาวสัก 1 เมตรเศษ ปลายแหลม ถือมาในมือ พอจอดรถที่ริมป่ากล้วย ก็จะเอาเหล็กแหลมนั้นแทงไปตามดินระหว่างโคนต้นกล้วย พอเจอเสียงดังกุก ๆ ก็จะร้องบอกตำรวจว่า “เจอแล้ว ๆ” ตำรวจก็จะเอาเสียมที่เตรียมมาขุดลงไป แล้วช่วยกันอุ้มไหเหล้าขึ้นมา ทุกครั้งที่ตำรวจกับสรรพสามิตมาตรวจ ก็จะจับชาวบ้าน 2-3 คนขึ้นรถไปพร้อมกับเหล้า 2-3 ไห ทั้งที่ในป่ากล้วยมีเหล้าฝังอยู่มากกว่านั้น รวมถึงเหล้าที่ซุกซ่อนอยู่ตามใต้ถุนบ้านและยุ้งข้าวก็ยังมีอีกมาก รวมทั้งหมู่บ้านแล้ว น่าจะมีเป็นร้อย ๆ ไห จากนั้นในวันรุ่งขึ้นชาวบ้านนั้นก็จะถูกปล่อยตัวกลับมา การจับกุมแบบนี้จะมีการทำกัน 2-3 เดือนครั้ง ว่ากันว่าชาวบ้านต้องเอาเงินให้ตำรวจกับสรรพสามิตจำนวนหนึ่ง แล้วก็จะได้รับการปล่อยตัวกลับมา เพื่อแลกกับโทษปรับในข้อหาเบา ๆ ว่าทำเหล้าเถื่อนเพื่อการบริโภค ไม่ได้ทำขาย และจะจับเฉพาะที่ทำเหล้าหมักแล้วเอาไปกลั่นเป็นเหล้าขาวเท่านั้น ส่วนที่เป็นสาโทหรือเหล้าขาวที่เอาดองยาไว้กินเองจะไม่ถูกจับ

ปู่และพ่อของอัมพรก็ทำเหล้าขาวเก่งมาก อัมพรเคยตามไปดูในหลาย ๆ ครั้งที่ชายป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน โดยต้องไปในเวลากลางคืน จุดตะเกียงเดินลัดเลาะไปตามลำห้วย จนถึงกระท่อมที่ปลูกง่าย ๆ ด้วยใบตองตึงทำเป็นเพิงหมาแหงน มีฝาสามด้าน สูงขนาดพอคนมุดเข้าไปยืนอยู่ข้างในได้ 3-4 คน ในนั้นมีเตา 2 เตาก่อด้วยดินเหนียว ไว้ต้มข้าวหมักที่หมักไว้ริมห้วยมาระยะหนึ่ง ที่หม้อต้มนี้มีหลอดสังกะสีทำด้วยการบัดกรีหยาบ ๆ ต่อเข้าหม้ออีก 2 ใบที่มีน้ำเย็นอยู่ข้างใน เมื่อไอน้ำเดือดจากหม้อต้มไหลผ่านหม้อน้ำเย็น 2 ใบนี้ ก็จะกลั่นตัวหยดลงมาที่ปลายท่อ ที่มีขวดเหล้าเก่าล้างจนสะอาดแล้วมารองเอา “น้ำเหล้า” นั้นเอาไว้ จากนั้นก็เอาจุกไม้เหลาพอดี ๆ อัดปิดที่ปากขวด พร้อมกับใบตองแห้งที่เตรียมมาห่อหนา ๆ รอบขวดและมัดด้วยตอกไม้ไผ่ ลำเลียงใส่ “เหลา” หรือตะกร้าสานขนาดใหญ่ หาบเอาไปฝังไว้ตามใต้ถุนบ้านและตามยุ้งข้าวดังกล่าว ส่วนที่ตำรวจและสรรพสามิตไปขุดเจอเป็นไห ๆ นั้น มักจะเป็นสาโท ที่ก็คือน้ำข้าวหมักที่ยังไม่ได้กลั่นเป็นเหล้าขาวนั่นเอง จึงทำให้ชาวบ้านไม่ถูกจับเข้าคุก เพราะโดนแค่ข้อหาเบา ๆ ดังกล่าว ซึ่งพ่อและปู่ของอัมพรก็เคย “หมุนเวียน - ทำพิธี” เข้าไปชมคุกที่ในเมืองเพื่อรับทราบข้อหาเบา ๆ และเสียค่าปรับ 3-4 ปีครั้ง ตอนหลังเมื่ออัมพรจบมหาวิทยาลัยแล้ว กลับไปเยี่ยมบ้านก็ทราบว่าชาวบ้านไม่ทำเหล้าขาวกินเองกันอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเหล้าขาวในร้านค้ามีราคาถูกลง และหาซื้อกินเองได้สะดวกกว่า ไม่ต้องเสี่ยงภัยเล่นเอาล่อเอาเถิดกับเจ้าหน้าที่ให้เหนื่อยด้วยกันทั้งสองฝ่าย

อัมพรเล่าเรื่องการทำเหล้าเถื่อนในหมู่บ้านของอัมพร ให้คนที่อัมพรรู้จักอยู่เสมอ ๆ เพราะเรื่องนี้ได้ “บ่มเพาะอุดมการณ์” อย่างแรกให้กับอัมพร ซึ่งอุดมการณ์นี้ได้สร้างทั้งความภูมิใจและความละอายใจให้กับอัมพรไปพร้อม ๆ กัน คือภูมิใจด้วยความรู้สึกว่า ชาวบ้านของอัมพร รวมถึงครอบครัวของอัมพรมีส่วนในการสร้างเกียรติภูมิให้แก่คนไทยจำนวนหนึ่ง ที่สามารถทำเหล้าดี ๆ แข่งขันกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้มาหลายสิบปีแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีความละอายใจที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือพี่น้องคนไทยด้วยกันกระทำทุจริตต่อหน้าที่ แต่ที่น่าละอายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การทรยศต่อรัฐบาลที่เป็นนายจ้างและต่อประชาชนที่เป็นผู้จ่ายภาษี

อุดมการณ์นี้อัมพรเรียกว่า “อุดมการณ์เพื่อชาติและประชาชน” มันเป็นอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นตอนที่อัมพรได้เข้าไปเรียนชั้นมัธยมที่ในเมือง ตอนนั้นมีเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์นั้นได้ก่อเกิดกระแสนิยมซ้ายเข้าไปในหมู่นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ทั่วประเทศ จังหวัดของอัมพรก็เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน มีโรงเรียนมัธยมใหญ่ ๆ หลายแห่ง และมีมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศ กระแสความนิยมซ้ายก็รุนแรงมากเช่นเดียวกัน อัมพรจำได้ว่าพวกที่มีแนวคิดอย่างนี้ต้องแต่งตัวให้รับรู้ว่าเป็น “กบฏ” ที่เรียกว่า “4 ย” คือ ไว้ผมยาว สวมกางเกงผ้ายีนส์หรือฝ้ายสีซีด ๆ สะพายย่าม และสวมรองเท้าแตะยาง ถ้าจะให้ดีต้องนิยมฟังเพลงเพื่อชีวิต ที่ร้องกันทั่วไปในยุคของอัมพรนั้นก็เช่น เปิบข้าว คนกับควาย แสงดาวแห่งศรัทธา และพิราบขาว เป็นต้น โดยเฉพาะเพลงเปิบข้าวนั้น เวลาที่อัมพรร้องขึ้นหรือได้ยินเพลงนี้ทีไร ก็จะมีความรู้สึกเนื้อตัวร้อนวูบวาบ ขนลุกขนพองขึ้นมาทันที เพราะด้วยความที่เป็นครอบครัวชาวนา ก็ยิ่งทำให้มีอารมณ์ร่วมกับเพลงนี้มากเป็นพิเศษ

อัมพรนึกถึงภาพที่ตำรวจกับสรรพสามิตเข้ามาจับกุมชาวบ้านที่ทำเหล้าเถื่อนในตอนเด็ก ๆ แม้ว่าจะเป็น “ปาหี่” เล่นละครจับกุมกัน แต่มันก็สะกิดความรู้สึกของ “การกดขี่” ให้ระเบิดขึ้นได้อย่างรุนแรง เขารู้สึกว่านั่นคือการข่มเหงและขูดรีดประชาชน การแบ่งแยกชนชั้น และความอยุติธรรม ทำให้เขานึกเชื่อมโยงไปถึงตอนที่เขาเรียนโรงเรียนในหมู่บ้าน เวลาที่มีเจ้านายมาจากในเมือง แม้แต่ระดับปลัดอำเภอหรือครูจากโรงเรียนใหญ่ ๆ ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเกณฑ์ชาวบ้านออกไปต้อนรับ รวมถึงที่ต้องฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ จนกระทั่งถึงล้มหมูและวัว ไปเลี้ยง “เจ้านาย” เหล่านั้น ซึ่งสำหรับอัมพรในช่วงวัยรุ่นและความรู้สึกในบรรยายกาศหลังวันที่ 14 ตุลาคมนั้น มันช่างร้อนรุ่มสุมหัวอก จนอยากระเบิดออกมา และอยากต่อสู้กับความอยุติธรรมเหล่านั้น

อัมพรรู้แต่ว่าถ้าเขาทำได้ การต่อสู้ประสบความสำเร็จ สังคมนี้จะน่าอยู่มาก ๆ